top of page

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ “หลักคิด” : ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม

“ศูนย์ศึกษาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” จัดตั้งขึ้นในปี 2547 เพื่อสร้างความตระหนักและสำนึกของผู้คนในสังคมให้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในบริบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารงานระดับประเทศ เช่น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ การบริหารองค์กร หรือการดำเนินชีวิตในระดับครอบครัว โดยเน้นทางสายกลาง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกัน ความรอบรู้ ความรอบคอบ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน และความเพียร มีสติ โดยมี ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการ


จากงานวิจัยต่างๆ และประสบการณ์ที่ผ่านมา ผศ.ดร.ณดา พบว่า ปัจจุบันสังคมไทยเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะแนวโน้ม “หนี้ครัวเรือน” ที่ปรับตัวสูงขึ้นและไม่มีวี่แววจะลดลง กล่าวคือ คนไทยเป็นหนี้จากการอุปโภค บริโภค มากกว่า เป็นหนี้จากการลงทุนหรือประกอบอาชีพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความพอดีของคนไทย ยังไม่เกิดผลลัพธ์เท่าที่ควร แม้ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสแนะนำแก่ประชาชนชาวไทยมาเป็นเวลากว่า 30 ปี

ปัญหาที่ศูนย์ศึกษาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนมองเห็นในสังคมไทยวันนี้คืออะไร ?

"ตอนนี้ปัญหาที่ใหญ่มาก ในมหภาคของเรา คือ ปัญหาหนี้สินครัวเรือน เป็นสิ่งที่น่าคิดว่า สังคมไทยเปราะบางกับปัญหาหนี้สินค่อนข้างเยอะ ถ้าเราดูในกลุ่มอาชีพ คนที่เป็นลูกจ้างทำอาชีพรับจ้าง ซึ่งรายได้ไม่มั่นคง เป็นรายได้แบบค่าจ้างขั้นต่ำ กลุ่มนั้นจะมีความเปราะบางสูงมาก ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินระยะยาวจะมีน้อยกว่ามนุษย์เงินเดือน ถ้าเราแบ่งโครงสร้างรายจ่ายของครัวเรือนไทย ค่าอาหารยังเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดอยู่ แต่ต้องยอมรับว่า สัดส่วนที่กำลังมาแรงมาก อย่างสาธารณูปโภค โดยเฉพาะค่าเทคโนโลยี ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์มือถือ มันเป็นค่าใช้จ่ายที่เริ่มมีบทบาทที่ชัดเจนขึ้น คนเริ่มจะเห็นเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินชีวิต


"สังเกตว่าสมัยก่อน ค่าอาหาร ค่ายานพาหนะ จะเป็นตัวนำโด่ง แต่ตอนนี้แนวโน้มเริ่มเห็นชัดว่า สาธารณูปโภค หรือค่าอินเทอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์มือถือ เริ่มมีบทบาทสำคัญ เพราะว่าคนสมัยนี้เริ่มใช้ค่อนข้างเยอะ ตรงนี้เป็นโครงสร้างรายจ่ายของครัวเรือนไทย เพราะว่าหนี้สินครัวเรือนมันเป็นสถานการณ์ที่เรากำลังจับตา เนื่องจากว่า แบงก์ชาติเองก็มองว่าตัวเลขของเราค่อนข้างสูง ถ้าเทียบกับประเทศที่รายได้สูงอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เราอาจจะมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับเขา หนี้ครัวเรือนต่อ GDP แต่ว่ารายได้ต่อหัวของประชากรไทยต่ำกว่าเขาหลายเท่า


"อีกอันที่เป็นประเด็น คือ แนวโน้มหนี้ครัวเรือนมันไม่ลดลง มันปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกประเด็นที่เราตั้งข้อสังเกตในงานศึกษาของเรา เราพบว่าหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นในบ้านเรา เป็นหนี้ที่เรียกได้ว่า เป็นหนี้เพื่ออุปโภค บริโภค ไม่ใช่หนี้เพื่อการลงทุน หรือการประกอบอาชีพเป็นหลัก ตรงนี้มันเลยเป็นปัญหา เราเลยตั้งคำถามในเชิงนโยบายว่า ที่เราพยายามจะขับเคลื่อนในเรื่องของการดำเนินชีวิตอยู่บนฐานของความพอดี มีเหตุมีผลในการตัดสินใจ มันเกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นจริงหรือเปล่า"

หมายความว่าประชาชนยังไม่เข้าใจเรื่องของการวางแผน การสร้างภูมิคุ้มกัน และไม่มีนโยบายที่จะผลักดันเรื่องเหล่านี้ ?

"คำถามคือ ความรู้ที่เราให้ มันเป็นความรู้ที่ให้กันแบบทุกคนต้องรู้ ในสิ่งที่จำเป็นแบบนี้หรือเปล่า ยกตัวอย่าง เรื่องหนี้ครัวเรือน คนเป็นหนี้เพราะว่าไม่เข้าใจเรื่องของการวางแผนชีวิต การวางแผนการเงินรึเปล่า เรามีนโยบายที่ขับเคลื่อนในเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นระบบรึเปล่า และเราก็พบว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้ เขาทำหน้าที่โดยมีเป้าหมายตามพันธกิจของเขา ยกตัวอย่าง ตลาดหลักทรัพย์ ทำเรื่องการให้ความรู้ เขาจะเน้นในเรื่องของการลงทุนเป็นหลัก อย่างธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความรู้เกี่ยวกับการเงิน แต่เขาจะเน้นในการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินเป็นหลัก เขาไม่ได้ความรู้ในกระบวนการตัดสินใจ


"เราทำงานวิจัยมันบอกชัดเจนว่า ในกระบวนการตัดสินใจคนจะเข้าใจได้ คนต้องรู้ต้นทุน คนต้องรู้สิ่งที่จะได้ เขาต้องมีความรู้ในทางการเงินระดับที่สามารถใช้งานได้ ยกตัวอย่าง ความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ย การคำนวณต้นทุน การวางแผนเป้าหมายในการเงินได้ถูกต้อง ว่าต้องวางแผนอย่างไร ต้องบริหารจัดการเงินอย่างไร เลยเป็นโจทย์ตั้งคำถามให้เราในเชิงนโยบายเหมือนกันว่า นโยบายรัฐจริงๆ ขับเคลื่อนในเรื่องเหล่านี้อย่างไร ถ้าย้อนลงไปในระดับการศึกษา การให้ความรู้ที่จะลดความเสี่ยงในการใช้ชีวิตยังไม่ตรงจุด"


หากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมี 3 ห่วง 2 เงื่อนไข อาจารย์มองว่าควรเริ่มที่สิ่งไหนก่อน ?

"ถ้าเราเอาเรื่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไขมาดู จุดเริ่มต้นจะต้องเริ่มจากเงื่อนไขก่อน กรอบนี้เป็นกรอบที่เราใช้ในการขับเคลื่อนในช่วงหลังๆ เพราะว่าคนต้องได้รับการพัฒนาให้มีเงื่อนไขสำคัญก็คือ ความรู้ กับ คุณธรรม แต่ว่า นิด้าเราพยายามเน้นในเรื่องคุณธรรม ให้เป็นตัวนำ จริงๆ ก็เป็นโจทย์ของเราเหมือนกันว่า คุณธรรมนี้ ซึ่งในระดับบุคคล เราพูดถึงคุณธรรมพื้นฐาน อย่างเช่น ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน มัธยัสถ์ แบ่งปัน มันเป็นคุณธรรมพื้นฐานที่จะต้องขับเคลื่อนในระดับบุคคล ตั้งแต่ในกระบวนการของการปลูกฝังที่มาจากในครอบครัว ครอบครัวต้องเข้มแข็งที่จะปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ลงมาที่ระดับโรงเรียน แล้วจากโรงเรียนจะต้องไปขยายผลต่อในระดับชุมชนและสังคม รวมถึงระดับประเทศ ซึ่งอันนี้มันเป็นการสร้างคุณธรรมในระดับบุคคล ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน มัธยัสถ์ แบ่งปัน


"เราจะต้องเน้นเรื่องกระบวนการหล่อหลอมในครอบครัว หมายความว่า บรรยากาศในครอบครัว บรรยากาศของชุมชน บรรยากาศของสังคม จะต้องเห็นคุณธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญ คือให้น้ำหนักกับคุณธรรมเป็นตัวนำ มันเหมือนเราคุยเรื่ององค์กร เราประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในองค์กร เราต้องเริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ให้เป็นองค์กรแห่งความดี คำว่า องค์กรแห่งความดี หมายความว่าต้องเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญเรื่องของคนที่จะต้องเอาพื้นฐานคุณธรรมเป็นตัวนำ คนเก่ง แน่นอนต้องทำองค์กรนำแน่ๆ แต่ต้องดีก่อน ดีบวกเก่งนี้จะทำให้องค์กรมีความยั่งยืน ในนิด้าตอนนี้เราพยายามจะขับเคลื่อน เราพยายามจะดึงเงื่อนไขมาเป็นจุดเริ่มต้น คือเงื่อนไขคุณธรรม ถ้าฐานเราแน่น เรามีเงื่อนไขคุณธรรมแล้ว ความรู้มันขึ้นอยู่กับว่า ความรู้ในการปฏิบัติหน้าที่ ความรู้ในสิ่งที่เรารู้จักขวนขวาย การที่เรารู้จักขวนขวายหาความรู้ นี่มันเป็นสิ่งที่เราต้องสร้าง ความรู้ในการปฏิบัติตน ความรู้ในการปฏิบัติหน้าที่ ความรู้ในการที่เราจะทำหน้าที่ของเรา พร้อมที่จะยอมรับความรู้ใหม่ๆ เพื่อที่จะตัวเองทันต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว

"เนื่องจากว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถ้าไปดูจริงๆ แล้ว แผนที่สำคัญมากคือ ยุทธศาสตร์ที่ 3 เป็นเรื่องของการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งถ้าลงไปดูในรายละเอียดของแผนยุทธศาสตร์ ที่คณะจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติร่างขึ้นมา จะเห็นเลยว่า เขาให้ความสำคัญกับประเด็นแรก คือ การปรับเปลี่ยนค่านิยม ค่านิยมมันต้องถูกสร้างขึ้นมาให้ถูกต้อง นั่นหมายความว่า อย่างที่เราพูดกัน คือ ปลูกฝังและหล่อหลอม ซึ่งค่านิยมที่สำคัญ คือ คุณธรรม ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน มัธยัสถ์ แบ่งปัน ตรงนี้ ตรงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ในเรื่องของการพัฒนาคน ทีนี้ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนวิธีคิด โดยการเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิต ในการที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเขา"


แท้จริงแล้วปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่อง “วิธีคิด” หรือ “การเกษตร” เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ นำเรื่องนี้ไปขับเคลื่อนในภาคการเกษตรจนหลายคนเข้าใจว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงการทำเกษตรเลี้ยงตัว ?

"มันเป็นวิธีคิดค่ะ ผูกติดกับอาชีพใดอาชีพหนึ่ง แล้วถามว่าวิธีคิดคืออะไร สมมติว่าเราเป็นครู ได้รับมอบหมายให้ทำโครงการอบรมคุณครูเพื่อจะขับเคลื่อนเกี่ยวกับการสร้างมาตรฐานอาหารที่มีคุณภาพ คำถามก็คือว่า เราจะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในโครงการนี้อย่างไร แน่นอนจุดเริ่มต้นเราเริ่มมาจากฐานที่เรามีจิตใจที่มีคุณธรรม เรามีจิตอาสาที่จะทำ เรามีฐานจากตรงนั้นซึ่งเป็นเรื่องที่ดีแล้ว


"สิ่งที่ต้องคำนึงต่อมาคือ คุณมีความรู้แค่ไหนที่คุณจะกำหนดให้การผลิตของคุณได้มาตรฐาน คุณจะใช้อะไรที่เป็นอินทรีย์มาช่วยบริหารจัดการ ไม่ใช่ใช้สารเคมีในการผลิตของคุณ คุณมีความรู้ที่จะปรับชีวิตของคุณ ปรับวิถีธรรมชาติของคุณตรงนั้นอย่างไร เพื่อให้คุณสามารถผลิตอาหารที่ตอบโจทย์ได้ โครงการของคุณ คุณจะต้องทำอะไรบ้าง คุณใช้หลักคิดสมเหตุสมผลหรือเปล่าในการทำ ไม่ใช่คุณทำโฆษณาป้ายยักษ์ใหญ่มโหฬาร แต่มันไม่ได้เกิดผลสัมฤทธิ์กับสิ่งที่คุณอยากจะให้เกิด แล้วการที่คุณจะดึงคนเข้ามามีส่วนร่วม คุณให้โอกาสเขามาอย่างไร เขาเข้ามาอยู่กับคุณตลอดแล้วเขาได้ประโยชน์จากมันหรือเปล่า

"เช่นนี้ ทุกเรื่องไม่ใช่แค่เรื่องเกษตร มันคือการกำหนดมาตรฐาน คุณต้องการที่จะมีผลผลิตที่ปลอดสารพิษ ตอบโจทย์ครัวโรงเรียน ตอบโจทย์ครัวชุมชน ใช่ไหม โรงเรียนของคุณมีศักยภาพในการผลิต คือนักเรียนของคุณแทนที่จะให้ไปเรียนเกษตรแบบทั่วๆ ไป ก็ให้มันเป็นเชิงธุรกิจดีไหม อันนี้มันเป็นเกษตรก็จริง แต่มันเป็นเชิงบริหารจัดการ มันไม่ใช่เกษตรทฤษฎีใหม่ที่ปลูกพืชเฉพาะกิน เป็นเรื่องบริหารจัดการ


"แล้วถามว่า เด็กได้เรียนแนวคิดนี้ แล้วเขานำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นได้ไหม ได้สิ เขาเอาไปประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจก็ได้ แม้แต่เขาไปทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ เวลาเขาจะทำโครงการอะไรขึ้นมาสักโครงการหนึ่ง เขาก็สามารถใช้แนวคิดแบบเดียวกันเลย หาความรู้ในสิ่งที่เราทำ แล้วตัดสินใจบนฐานของความมีเหตุมีผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน รอบคอบ ระมัดระวัง ความเสี่ยงอะไรที่ต้องตระหนักถึง การดำเนินชีวิตเขาก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ มันเป็นการบูรนาการแนวคิดที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เราอยากจะได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปผูกเรื่องเกษตร"


อาจารย์คิดว่าสามารถนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประกอบการตัดสินใจในการวางนโยบายประเทศได้ไหม ?

"แง่ยุทธศาสตร์เราอาจจะยังขาดการ execution ที่ดี ในฐานะทำงานเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็น 10 ปี การใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในกระบวนการตัดสินใจสำคัญมาก การใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต้องเริ่มจากคำถามก่อนว่าเรารู้จริงในเรื่องที่เราจะทำจริงหรือเปล่า แล้วเราใช้หลัก 3 ห่วงในการตัดสินใจหรือไม่ โดยต้องมั่นใจว่าการตัดสินใจเราอยู่บนฐานของการมีคุณธรรมอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ ถ้าการวางนโยบาย การกำหนดทิศทางของการพัฒนาประเทศ เราไม่ได้ใช้กลไกแบบนี้ในการตัดสินใจ มันก็จะเกิดโอกาสเสี่ยงที่มันจะเกิดการไม่โปร่งใส ไม่รับผิดรับชอบต่อการกระทำ มันก็จะเกิดปัญหาการทุจริต คอรัปชั่นออกมาอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ เรามีของดี แต่อยู่ที่ว่าเรา execute รึเปล่าเท่านั้นเอง เราใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีรึเปล่า


"ในแง่ของคนที่เป็นผู้บริหารประเทศ คนที่กำหนดนโยบาย เมื่อคุณกำหนดนโยบายมา คุณกำหนดยุทธศาสตร์มา คำถามคือคุณต้องมองว่าจะ implement มันยังไง คือ good strategy ยุทธศาสตร์ที่ดี ถ้าไม่ execution เอามันมาปฏิบัติไม่ได้ หรือวิธีการปฏิบัติไม่ถูกต้อง ยุทธศาสตร์มันก็ไม่เกิดผล เพราะฉะนั้นตรงนี้ มันต้องไปด้วยกัน ทีนี้คำถามก็คือว่าหน่วยงานที่เราจะพยายามขับเคลื่อนกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบเอง มันขาดการบูรนาการ

"ถ้ามันบูรนาการกันจริงๆ มันไม่ต้องใช้งบประมาณเยอะค่ะ เพราะว่างบประมาณมันไม่แตกส่วน แล้วมันต้องเห็นผลสัมฤทธิ์ คือเวลาเราคิดเชิงยุทธศาสตร์ เวลาจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ กลไกคือ ต้องมองไปที่ outcome ก่อน เราอยากเห็น outcome ยังไง แล้วเราถึงจะถอยกลับมาว่า output ที่เราอยากได้คืออะไร แล้วจาก output ถึงจะมาที่กระบวนการ และจากกระบวนการเราถึงจะมาคุยกันว่า จากกระบวนการนี้เราจะใช้ input ยังไง แต่ที่ผ่านมา กระบวนการคิดเชิงยุทธศาสตร์ของเรามันอาจจะยังไม่เป็นระบบแบบนี้ คือต่างคนต่างทำ มีพันธกิจและจุดมุ่งหมายที่ต่างคนต่างมี มันเลยไม่ค่อยมุ่งประเด็น direct ไปที่สิ่งที่เราอยากจะเห็น"


ฝากถึงเยาวชน

"จริงๆ เขาต้องรู้จักคิดบนฐานของความพอประมาณ มีเหตุมีผลและมีภูมิคุ้มกัน หมายความว่าต้องรู้จักตระหนักถึงความเสี่ยงด้วย แต่ก่อนจะทำอย่างนั้น ขอให้น้องๆ เยาวชนรู้จักขวนขวายหาคำตอบที่ถูกต้อง เมื่อมีคำถาม ต้องรู้จักหาคำตอบ นั่นคือเงื่อนไขแรก มีคุณธรรมเป็นเงื่อนไขที่เราคิดว่าโรงเรียนต้องให้ในเรื่องของการปลูกฝังคุณธรรม แต่ความรู้ต้องรู้จักขวนขวายหาความรู้ อยากรู้อะไร อยากจะทำอะไร ต้องรู้จักหาความรู้ เมื่อหาความรู้แล้ว ในกระบวนการตัดสินใจ ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มันมีเหตุมีผลในการทำเช่นนั้นหรือไม่ มันพอประมาณกับกำลังของเรารึเปล่า แล้วเราเห็นถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการทำกิจกรรมนั้นไหม รู้จักตัดสินใจในความรอบคอบ ระมัดระวัง สิ่งเหล่านี้จะเป็นฐานในการดำเนินชีวิตของเขา เพราะฉะนั้น เขาจะรู้จักการนำหลักคิดนี้ไปใช้ในทุกๆ เรื่องในชีวิตของเขา ถ้าเขาจะต้องไปศึกษาต่อ ลองตั้งคำถามกับตัวเองดูว่าเรารู้ในสิ่งที่เราจะเป็นในอนาคตจริงแล้วหรือยัง หาความรู้ให้กับตัวเอง และคิดให้รอบคอบ มีความพอประมาณ มีเหตุผลในการตัดสินใจ แค่นี้จะมีผลกับการใช้ชีวิตได้" ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม กล่าว

ดู 482 ครั้ง0 ความคิดเห็น
เพลง ครอบครัวพอเพียง
00:00 / 02:09
bottom of page