top of page

นานาทัศนะจากงานเสวนา "โครงการศาสตร์กษัตริย์สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ชมรมศูนย์ครอบครัวพอเพียง"


หลังจากมูลนิธิครอบครัวพอเพียงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 27 มหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนชมรมศูนย์ครอบครัวพอเพียงในระดับอุดมศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชน ชุมชน สังคมและประเทศชาติ มูลนิธิครอบครัวพอเพียง จึงได้จัดการเสวนา “โครงการศาสตร์กษัตริย์สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนชมรมศูนย์ครอบครัวพอเพียงระดับอุดมศึกษา” ขึ้น ในวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ณ ห้องประชุม ชั้น L โรงแรมใบหยกสูท



ในงานเสวนาครั้งนี้ มีหลายมหาวิทยาลัยตบเท้าเข้าร่วมงานไม่น้อย เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย อย่างไรก็ตาม เราลองมาฟังความคิดเห็นบางส่วนจากตัวแทนของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับเรื่องการทำจิตอาสาและการดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิครอบครัวพอเพียงที่ผ่านมาและในอนาคตต่อไป



นาย สุขวรรณชาต รัตนาแพง จากสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เป็นคนชอบเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว พอเข้ามาฟังการเสวนาทำให้เราได้ข้อมูลเยอะขึ้น สามารถนำไปพัฒนานิสิตนักศึกษาของเราได้ต่อ จากที่เรามีโครงการอยู่แล้ว เราก็สามารถเอาไปช่วยเสริมสิ่งที่เรามีอยู่แล้วให้มีมากขึ้น หลังจากที่ฟังแล้ว ก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เราต้องร่วมทำให้กับนักศึกษา หรือคนรุ่นใหม่ให้มีจิตสาธารณะมากขึ้น ที่จริงพวกเขาก็มีจิตสาธารณะกันอยู่แล้ว แต่เรามาเพิ่มเวทีให้เขาได้แสดงออกได้มากขึ้น เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับนักศึกษาด้วย การที่ครอบครัวพอเพียงเข้าไปเปิดพื้นที่ในคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเป็นการทำงานเชิงรุกที่จะทำให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ในอนาคตแน่นอนว่าเราจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิครอบครัวพอเพียงตรงนี้ครับ”



ดร. ฟ้าประทาน เติมขุนทด หัวหน้างานกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

“หลังจากที่ได้รู้จักมูลนิธิครอบครัวพอเพียงและแนวทางการดำเนินงานต่างๆ ผมรู้สึกว่ามันใช่ เพราะมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอยู่แล้ว ถ้านำเรื่องของความพอเพียงมาเสริมให้กับนักศึกษาได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง การที่เราได้ลงนามความร่วมมือกับมูลนิธิครอบครัวพอเพียงเราถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะเห็นมูลนิธิครอบครัวพอเพียงเข้าไปทำกิจกรรมจิตอาสากับเยาวชน กับชุมชน รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาด้วย รู้สึกว่าเข้าถึงอย่างกว้างขวาง เพราะเริ่มทำตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนส่งต่อถึงระดับมหาวิทยาลัย อันนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนของชาติอย่างมากเลยครับ เสียงตอบรับจากนักศึกษาต่างบอกว่าประทับใจมากที่ได้ร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิครอบครัวพอเพียงครับ”






นางสาวจิรนุช วงษ์อารักษ์ นักวิชาการศึกษา ฝ่ายกิจการนิสิต ที่ปรึกษาศูนย์นิสิตจิตอาสา มศว.

“น่าสนใจและน่าศึกษาค่ะ โดยส่วนตัวต้องทำงานทางด้านจิตอาสา เรามีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ ทำงานด้านจิตอาสา จึงมีความสนใจที่จะเข้ามาฟังการเสวนาครั้งนี้ว่า มหาวิทยาลัยอื่นๆ หรือชมรมศูนย์ครอบครัวพอเพียงของมหาวิทยาลัยต่างๆ เขาทำงานกันอย่างไรบ้าง หลังจากเข้าร่วมฟังเสวนาแล้วรู้สึกดีใจนะคะที่เห็นคนไทยเรามีความคิดทางด้านจิตอาสามากขึ้น ยิ่งเรามีจิตอาสามากขึ้นเท่าไหร่ ประเทศชาติก็จะสงบและน่าอยู่มากขึ้น คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะให้น้องๆ ฝึกการทำงานในชีวิตประจำวันจริง และมีประสบการณ์ในการทำงาน หรือว่าติดต่อสื่อสาร และทำเพื่อสังคมจริงๆ เพราะปัจจุบันเรื่องจิตอาสาเป็นเรื่องที่สำคัญในสังคมไปแล้ว ในส่วนนักศึกษาที่เป็นจิตอาสาในมูลนิธิครอบครัวพอเพียง เราก็ดึงมาเป็นคณะกรรมการในศูนย์นิสิตจิตอาสาของ มศว ด้วย น้องๆ ก็จะได้ร่วมงานในภาคีเครือข่ายจิตอาสาที่กว้างขึ้น”




ดร.ภัทรวิทย์ อยู่วัฒนะ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ

ที่ปรึกษาชมรมศูนย์ครอบครัวพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

“เราได้รู้แนวทางในการดำเนินงานของมูลนิธิครอบครัวพอเพียง จากการที่เราได้ฟังท่านวิทยากร เราก็ได้ทราบว่าแนวทางที่แท้จริงของมูลนิธิฯ ต้องการปลูกฝังให้นักศึกษามีพื้นที่ในการทำจิตอาสา และในการพัฒนาตัวเอง รวมถึงการส่งเสริมให้นักศึกษามีการทำงานเป็นทีม ในการเข้ามาอยู่ร่วมกันในนามชมรมศูนย์ครอบครัวพอเพียง เป็นเรื่องที่ดีครับ ในฐานะที่เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยฯ ก็ได้รับทราบแนวทางและได้นำกลับไปดำเนินการต่อไปครับ เช่น การทำค่ายร่วมกัน หรือกิจกรรมที่จะร่วมกันส่งเสริมให้นักศึกษามีศักยภาพที่ดีมากขึ้นต่อไปครับ”




อาจารย์ปัญจพาข์ สุขโข อาจารย์สาขาวิชาพยาบาลเด็ก

ที่ปรึกษาชมรมศูนย์ครอบครัวพอเพียง สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย

“วันนี้มาเป็นวิทยากรร่วมเสวนากับมูลนิธิครอบครัวพอเพียง ทำให้ได้เห็นว่า จริงๆ แล้วทุกสถาบันสามารถเข้ามาร่วมงานกับมูลนิธิครอบครัวพอเพียงได้ ตั้งแต่สถาบันเราได้ทำความร่วมมือกับมูลนิธิครอบครัวพอเพียงปีนี้เป็นปีที่ 4 ซึ่งทุกปีมูลนิธิครอบครัวพอเพียงจะเข้าไปปฐมนิเทศให้กับนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 ให้ทราบถึงแนวคิดและกิจกรรมที่ได้ทำทั้งหมด หลังจากนั้นเราก็มีกิจกรรมร่วมกัน เช่น การทำงานด้านจิตอาสา สอนทำหนังสือให้กับคนตาบอด เรื่องการจัดกิจกรรมอาสาไปสอนให้กับชุมชน รวมทั้งนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 ให้ร่วมเป็นวิทยากรสอนภาคปฏิบัติให้กับนักเรียนทั่วประเทศไทย ที่มูลนิธิครอบครัวพอเพียงจัดขึ้นในชื่อ CPR ซึ่งโครงการเหล่านี้เราคิดว่าจะทำอย่างต่อเนื่องต่อไปค่ะ นอกจากนี้ก็ยังมีการปัจฉิมนิเทศให้กับนักศึกษาปี 4 ของเราด้วยค่ะ”



ว่าที่ร้อยเอก บัญญัติ เสกนำโชค นักวิชาการศึกษากิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

“หลังจากที่ได้เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ ก็ทำให้เข้าใจแนวทางการทำกิจกรรมจิตอาสาของมูลนิธิครอบครัวพอเพียงมากขึ้น และทำให้ทราบว่าจะสามารถนำไปประยุกต์เข้ากับมหาวิทยาลัยในส่วนไหนได้บ้าง กิจกรรมที่มูลนิธิครอบครัวพอเพียงทำเป็นกิจกรรมที่ดีและสอดคล้องกับกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยทำอยู่แล้ว ปัจจุบันมหาวิทยาลัยก็ส่งเสริมให้นักศึกษามีจิตสาธารณะมากขึ้น ซึ่งตัวนักศึกษาเองอีกหน่อยก็ต้องเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีจิตอาสา ในตอนนี้ในมหาวิทยาลัยของเราเอง มีการเน้นย้ำในเรื่องของการทำจิตอาสาอยู่แล้ว ตามพระราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ท่านสนับสนุนเรื่องการทำจิตอาสา ของมหาวิทยาลัยราชภัฏก็จะเป็นในส่วนของจิตอาสาที่ลงสู่ท้องถิ่น ตามนโยบายราชภัฏสู่ท้องถิ่น ซึ่งแนวทางของมูลนิธิครอบครัวพอเพียงนับว่าสอดคล้องกับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยของเราเป็นอย่างมากครับ”

























ดู 107 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


เพลง ครอบครัวพอเพียง
00:00 / 02:09
bottom of page