หนูดีใจด้วยซ้ำที่หนูเกิดมาเป็นกะเทย สาเหตุที่หนูต้องย้ายจากอุบลฯ มาเรียนกรุงเทพฯ ก็เพราะวัยรุ่นรอบข้างหนูแปดสิบเปอร์เซ็นต์ติดยาหมดเลย แล้วถ้าหนูเป็นผู้ชายในวันนั้น แล้วหนูเกเรในวันนั้นชีวิตหนูจะเป็นยังไง
เพลง “ผู้สาวขาเลาะ” สามารถอธิบายชีวิตวัยเด็กของ เจด้า สุรชาติ อินทร์สุวรรณ ได้ดี ผิดกันแต่ว่าชีวิตในวัยเด็กของเจด้าไม่ได้มีแต่ความสนุกสนานเหมือนในเพลงเพียงอย่างเดียว หากต้องอาศัยอยู่กับปู่ย่าในแถบถิ่นชนบทของจังหวัดอุบลราชธานีตั้งแต่เล็กๆ ช่วยหาบเร่ขายไก่ย่างเพื่อจุนเจือครอบครัว โดยไม่ทราบเลยว่าพ่อกับแม่ที่อยู่กรุงเทพฯ จะมีโอกาสกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้งเมื่อไหร่
“ตั้งแต่จำความได้รู้เลยว่าตัวเองเป็นตุ๊ด แล้วก็ทาลิปสติกแม่ ใส่ชุดผู้หญิงมาโดยตลอด” เจด้ายอมรับว่ามีเพศสภาพไม่ตรงกับจิตใจตั้งแต่เด็ก ทั้งยังชื่นชอบหมอลำเป็นพิเศษเรียกว่าบ้านไหนมีหมอลำที่นั่นมีเจด้า ถึงขนาดสมัครตัวเป็นหางเครื่องของวงดนตรีในขณะที่ตนเองเรียนอยู่เพียงชั้น ม.2 ที่โรงเรียนโพธิ์ไทรพิทยาคาร “ถ้าพรุ่งนี้มีสอบ แต่คืนนี้มีหมอลำ หนูเลือกหมอลำ วันไหนไม่มีหมอลำหนูก็จะขับรถทั่วตามหาเผื่อบ้านไหนมีงานสนุกสนานรื่นเริง หนูเป็นคนชอบสนุกสนานที่สุด ชอบเต้น”
ในสมัยนั้นวงดนตรีหมอลำในแถบที่เจด้าอาศัยอยู่มักมีเรื่องตีกัน ทำร้ายกันบาดเจ็บจนถึงตาย แต่เจด้าก็ไม่กลัว เธอเที่ยวตระเวนขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามงานต่างๆ ยามค่ำคืน คิดแต่ว่าคืนนี้จะไปสนุกที่ไหน โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่เจด้าเป็นและทำอยู่นั้น พ่อกับแม่ของเธอเฝ้าดูอยู่ตลอด
“เหมือนเป็นช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ แม่ทราบว่าพฤติกรรมของเรากำลังอยู่ในขั้นเสี่ยง และปู่กับย่าก็ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง เขาจึงตัดสินใจให้เรามาเรียนต่อ ม.3 ในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จากนั้นมาหนูก็อยู่กับพ่อแม่ที่กรุงเทพฯ มาโดยตลอด”
ที่โรงเรียนเอกชนนี้เอง สร้างความอึดอัดใจให้กับเจด้าเป็นอย่างมาก เธอไม่กล้าเปิดเผยตนเองว่าเป็นเพศที่สามเพราะกลัวโดนล้อ ในฐานะเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนกลางคัน ทั้งยังต้องแสดงออกว่าเป็นผู้ชายทั่วไปซึ่งขัดกับธรรมชาติของตนเองเมื่อครั้งอยู่กับปู่ย่าที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยสิ้นเชิง แต่นั่นกลับกลายเป็นเบ้าหลอมหนึ่งที่สอนให้เธอรู้จักอดทนทำหน้าที่เรียนหนังสือให้ดี เพราะจะว่าไปแล้ว คุณพ่อประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ คุณแม่รับจ้างเย็บเสื้อผ้า รายได้ในครอบครัวของเธอจึงมีไม่มาก ทั้งยังต้องส่งเสียพี่สาวอีกคนหนึ่งด้วย
เมื่อจบ ม.3 เจด้าเข้าเรียนต่อ ม.4 ที่โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย ที่นี่เองทำให้เจด้ากลับมาเป็นตัวเองอีกครั้ง ราวกับชุบชีวิตให้เธอเกิดใหม่อีกครั้ง เธอพบเพื่อนชาวอีสานมากมาย พบเพื่อนที่เป็นเพศที่สามเหมือนกัน เธอไม่โดดเดี่ยวอีกแล้ว เจด้ากลับมามีพลังในตัวเอง และใช้พลังทั้งหมดไปกับการเรียนและกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียน ชนิดที่ว่าพ่อกับแม่ของเธอหายห่วง
“เรามาอยู่กรุงเทพฯ เราเห็นว่าเด็กกรุงเทพฯ เขาเก่ง พอเรามาเรียนที่กรุงเทพฯ เราต้องขยันกว่าเขาหลายเท่า การบ้านจากเด็กที่เก่งที่สุดในห้องกลายเป็นมาลอกหนู ภาษาอังกฤษของหนูจากศูนย์กลายมาเป็นห้าสิบและขยับมาเรื่อยๆ เพราะว่าพอหนูกลับบ้านไปหนูไม่ทำอะไรเลย หนูทำการบ้านก่อน ทำการบ้านเสร็จหนูเปิดยูทูปดูเรื่องการสอนพิเศษ สอนเรื่องการทำกรวยจีบด้วยผ้า การตัดผ้ากรวย แล้วหนูก็ไปเรียนเพิ่มให้ลึกเข้าไปอีก อาจารย์เห็นเราทำได้ก็ชม เราก็ดีใจ”
เมื่อความเป็นตัวเองของเจด้ากลับมาอีกครั้ง เธอเปิดรับทุกอย่างในโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย ไม่ว่าอาจารย์ท่านใดจะให้ช่วยเหลือเรื่องกิจกรรมใด เจด้าไม่เคยปฏิเสธ ไม่เคยเห็นเป็นเรื่องเหนือบ่ากว่าแรง ไม่ว่าจะแข่งขันแกะสลัก แข่งขันเต้นวงลูกทุ่ง แข่งขันกิจกรรมต่อต้านยาเสพติด ฯลฯ ภายในระยะเวลาหนึ่งปีเจด้าสะสมเกียรติบัตรได้มากกว่าสิบแผ่น ได้พอร์ตโฟลิโอสะสมสำหรับเข้ามหาวิทยาลัยอีกแฟ้มใหญ่ โดยที่ตนเองยังไม่ทันคิดถึงเรื่องเข้ามหาวิทยาลัย หากทำด้วยใจและความสนุก
“ยิ่งทำแล้วเรายิ่งชอบค่ะ ถ้าอันไหนที่เราทำแล้วมีตัวตนแล้วมีความสุขเรายิ่งจะทำ จะทำเรื่อยๆ แล้วเราก็มีเพื่อนมีน้ำใจด้วย ในขณะที่เราไปทำกิจกรรมของโรงเรียนเพื่อนก็จะคอยช่วยเหลือเรื่องการบ้านเรื่องงาน คอยตามให้เราตลอด”
ครูที่โรงเรียนเคยเตือนเจด้าว่าการทำกิจกรรมเยอะๆ หรือทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกันอาจทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จเลยสักอย่าง นั่นคือคำสอนที่เธอจำขึ้นใจจนจบมัธยมปลาย ขณะเดียวกันเมื่อมีทุนการศึกษาเข้ามาในโรงเรียน เจด้าจึงเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งที่ครูหมายตาไว้แล้วว่าเธอสมควรได้รับ เพราะทำงานให้โรงเรียนมาแล้วมากมายโดยไม่เคยบ่นสักคำ เมื่อถามว่าเพราะอะไรคุณครูถึงเลือกให้ทุนเรียนฟรีในระดับมหาวิทยาลัยแก่เจด้า เธอตอบว่าเป็นผลพวงของความดีที่ได้ทำ ที่ได้ช่วยเหลือโรงเรียน เธอทำกิจกรรมชนิดที่ว่าสามารถเก็บเงินช่วยพ่อแม่ส่งเสียค่าเรียนของตัวเองจากการลงประกวดแข่งขันต่างๆ ที่คุณครูชักชวน
เจด้าจบชั้นมัธยมปลายด้วยเกรดเฉลี่ย 3.22 พร้อมสิทธิในการรับทุนเรียนฟรีโดยไม่ต้องใช้คืนในคณะนิเทศศาสตร์ สาขาสื่อการตลาดดิจิทัล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และเธอก็ไม่ทำให้เสียชื่อโรงเรียนเก่าด้วยผลการเรียน 4.00 ในเทอมแรกของชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ปัจจุบันเจด้าอยู่ชั้นปีที่ 1
“เวลาหนูเรียนหนูจะไม่บ่นเพื่อนว่าทำไมไม่ช่วยทำงานส่งอาจารย์ ไม่ว่าจะงานกลุ่มหรืองานเดี่ยวหนูจะไม่โทษเพื่อน ใครไม่ทำหนูจะทำ และจะทำเกินกว่าที่อาจารย์สั่ง จะได้คะแนนน้อยหรือมากหนูขอแค่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ งานที่หนูส่งอาจารย์จะเห็นได้ถึงความแตกต่าง หนูเรียนในคณะที่ชอบแล้วหนูก็ทำงานอย่างมีความสุข หนูได้คะแนนเพื่อนก็ได้คะแนนด้วย เราจะได้ผ่านไปด้วยกัน หนูคิดอย่างนี้”
เมื่อเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัย เจด้ายิ่งแข็งแรงในเรื่องการทำกิจกรรม เพราะเธอมีรุ่นพี่ที่เป็นสาวประเภทสองคอยสนับสนุนหลายคน กลายเป็นกลุ่มเพื่อนที่เหนียวแน่นรวมพลังกันทำเพื่อมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นงานเบื้องหน้าหรือเบื้องหลังเจด้าก็ไม่ยอมปฏิเสธเหมือนเดิม จนเป็นที่กล่าวขานของคณะผู้บริหารและคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย
“หนูเป็นคนที่ถ้าช่วยใครแล้วจะช่วยยิ่งกว่า-ให้ถึงที่สุดตลอด ยิ่งไปเรียนในมหาวิทยาลัยเรามีเพื่อนๆ ที่เป็นกะเทยเหมือนกัน แล้วพวกเขาไม่ได้เป็นกะเทยที่ห่วงสวย เป็นสายลุยไม่ว่าจะงานอะไรขอให้บอก เราโชคดีที่มีเพื่อนๆ กลุ่มที่ลุยเหมือนกัน อย่างเช่นงานรับปริญญารุ่นพี่,ที่ผ่านมาก็จะมีรุ่นน้องมาบูมให้รุ่นพี่ธรรมดา แต่ปีนี้กลุ่มหนูเป็นกลุ่มเด็กทุนก็นัดกันใส่ชุดราตรีเพื่อมาบูมให้รุ่นพี่โดยเฉพาะ สร้างสีสันให้กับมหาวิทยาลัย”
เจด้ายึดวิธีปฏิบัติตนจากโรงเรียนเดิมตลอดเมื่อมาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย คือทำทุกอย่างที่มหาวิทยาลัยต้องการให้ช่วยเหลือควบคู่ไปกับการเรียน “ก่อนหน้านี้หนูบอกแม่มาตลอดว่าหนูจะช่วยหาเงินส่งค่าเทอมของหนูด้วยอีกแรงหนึ่ง ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะได้รับทุนเรียนฟรีแบบนี้ พอได้ทุนหนูโทรไปบอกแม่ แม่หนูร้องไห้ คือมันเป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับครอบครัวที่ไม่ได้มีรายได้มากมายอะไร แม่บอกว่ารู้ไหมว่ากำลังคุยกับคุณพ่ออยู่ว่าจะหาเงินจากไหนมาส่งหนูเรียน”
เหตุผลลึกๆ ที่เจด้าก้าวมาถึงจุดนี้ได้ เธออธิบายว่า ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ เธอทราบฐานะของครอบครัวมาตลอดว่าพ่อแม่ต้องออกไปทำงานหาเงินที่กรุงเทพฯ เพื่อจะส่งเงินให้เธอและใช้หนี้ให้หมด หนี้สินที่พอกพูนขึ้นทุกวันด้วยดอกเบี้ย สิ่งที่เธอทำได้คือดูแลตัวเองและประพฤติปฏิบัติตนให้ดีที่สุดเพียงแค่ไม่ให้ครอบครัวต้องเดือดร้อนเพิ่ม นั่นจึงเป็นที่มาให้เธอทำทุกอย่างเพื่อบรรเทาภาระครอบครัวในแบบของเธอเอง
“หนูเคยไลฟ์สดในเฟสบุ๊คขายเครื่องสำอางหาเงินได้สูงสุดวันละหกหมื่น ทำตั้งแต่หนึ่งทุ่มถึงตีสอง วันละ 2-3 รอบ รอบละ 4 ชั่วโมง ลูกค้าประมูลเซทละ 1-2 หมื่น หนูได้เงินมาหวังอย่างเดียวจะเอาไปใช้หนี้ให้แม่”
ทักษะหนึ่งที่เจด้าไม่เคยลืมและศึกษาเพิ่มเติมมาตลอดคือเทคนิคการแต่งหน้า สาวประเภทสองคงเข้าใจดีว่าการแต่งหน้าคือชีวิตจิตใจเพียงใด เจด้าก็คือหนึ่งในนั้น จากเด็กน้อยที่แอบเอาลิปสติกของแม่มาทาเล่น กลายเป็นทักษะชีวิตที่ไม่มีทางจางหาย หากติดตัวมาถึงปัจจุบันสร้างรายได้ให้เธออีกแรง
“เราเป็นกะเทยเราก็ชอบแต่งหน้าอยู่แล้ว ชอบตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็เปิดดูในยูทูปของบล็อกเกอร์ฝรั่งที่เขารีวิวแต่งหน้ากัน เราก็เริ่มแต่งให้คนนั่นบ้างคนนี้บ้าง เริ่มทีละอย่างจากการกรีดอายไลเนอร์ การเขียนขอบตา ค่อยๆ ซื้อทีละอย่าง แต่งไปเรื่อยๆ จนมาเริ่มรับงานครั้งแรกตอน ม.6 ได้เงินหรือไม่ได้เงินหนูก็เอา หนูขอแค่ประสบการณ์ บางทีได้ 200 บาท ไปแต่งหน้าถึงคลองหลวง เราคิดอย่างเดียวว่าเราจะได้ฝึกประสบการณ์”
เจด้ากล่าวว่า ฝึกแต่งหน้าลองผิดลองถูกมา 6 ปี กว่าจะรับงานได้ อุดมการณ์เล็กๆ ของเธอคือ “ถึงแม้เราจะไม่มีเงินซื้อเครื่องสำอางราคาแพง แต่เราใช้ฝีมือเข้าช่วย ทำให้ลูกค้ายอมรับ” จากเด็กน้อยที่ออกหาประสบการณ์ กลายเป็นช่างแต่งหน้าที่มีทักษะไปถึงการแต่งสีผิว-พอกผิว และการจัดแต่งทรงผมสำหรับนางงามขึ้นเวทีประกวด ที่สุดแล้วการแต่งหน้ากลายเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้เธอจากหัวละ 200 บาท กลายเป็นหัวละ 3,000 บาท ในปัจจุบัน
ความมุ่งหวังของเจด้าคือ เมื่อเรียนจบแล้วอยากทำงานตามสายที่ตนเองเรียนมา นั่นคือการคิดออกแบบโฆษณา การเป็นครีเอทีฟ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ออกทางหน้าจอทีวี เธอมองย้อนไปถึงชีวิตในวัยเด็ก จากเด็กที่ชอบหมอลำซิ่ง ชอบเต้นชอบสนุก กลายมาเป็นนักศึกษาทุนเรียนฟรี ด้วยความอดทนต่อการโดนล้อ อดทนต่อเพศสภาพที่หลายคนยังไม่ยอมรับ เจด้ากำลังพิสูจน์ตัวเองให้ทุกคนเห็นว่า กะเทยไม่ใช่ความผิดพลาดหรือความผิดปกติ หากเป็นธรรมชาติที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด
“กิจกรรมมันให้อะไรหลายๆ อย่างกับตัวหนูมาก มันให้ความเข้าใจผู้อื่น เข้าใจเพื่อน ให้มุมมองหลากหลาย บางครั้งงานในคณะตัวเองแท้ๆ แต่เพื่อนหลายคนก็ไม่ยอมช่วย ขณะที่เรามีงานขายของ มีงานของมหาวิทยาลัยอีกมากมายที่ต้องทำ มันทำให้เราเข้าใจในความแตกต่าง เพราะเขาไม่ได้ผ่านจุดที่ยากลำบากมาแบบเรา สิ่งที่เราผ่านมาทำให้เราแข็งแกร่งเกินกว่าจะไปต่อว่าผู้อื่น ใครที่เรียกหนูว่ากะเทยหรือตุ๊ดอะไรต่างๆ นานา หนูภูมิใจ ไม่เคยไปว่าใครตอบ หนูดีใจด้วยซ้ำที่หนูเกิดมาเป็นกะเทย สาเหตุที่หนูต้องย้ายจากอุบลฯ มาเรียนกรุงเทพฯ ก็เพราะวัยรุ่นรอบข้างหนูแปดสิบเปอร์เซ็นต์ติดยาหมดเลย แล้วถ้าหนูเป็นผู้ชายในวันนั้น แล้วหนูเกเรในวันนั้นชีวิตหนูจะเป็นยังไง หนูเป็นกะเทยแต่หนูไม่อายที่จะหาบไก่ย่างขายในตลาด ไม่อายที่จะตะโกนเรียกลูกค้า ตื่นตั้งแต่ตีห้ามาย่างไก่ พอหกโมงก็ออกไปขาย หนูถือถาดไก่ตะโกน ‘เอาไก่บ่ค่า’ ‘เอาไก่บ่ค่า’ นั่นแหละ กิจกรรมต่างๆ ประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตมันบ่มสอนหนูมาให้อึดกว่าคนอื่น”
ชีวิตคนเราอาจมีปมด้อย อาจมีจุดบอด แต่มันไม่ได้หมายความว่าเราจะแพ้ หรือต้องแพ้ เจด้ากำลังบอกเยาวชนหลายคนว่า ภูมิคุ้มกันในชีวิตคนเราก็คือการกระทำของเราเอง หากเป็นนักรบเธอก็กำลังสู้ยิบตาเพื่อไขว่คว้าหาอนาคตของตนเองโดยไม่มัวโทษคนอื่น หรือโทษโชคชะตา เมื่อเงยหน้ามองโลกรอบๆ ก็พบว่ายังมีทางอีกมากมายให้เลือกเดิน เจด้าไม่พูดมากถึงเรื่องการเรียนหนังสือแม้จะได้เกรดเฉลี่ยถึง 4.00 แต่เธอมักจะพูดถึงกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างประสบการณ์ให้เธอรู้จักเรียน รู้จักเล่น รู้จักสนุก โดยให้ความสำคัญกับคำว่าชีวิตและครอบครัวมากกว่าอื่นใด
Comentários