“เราไม่รวย และเราไม่ได้อยู่ในโลกนี้เพื่อจะรวย” ระหว่างนั่งสนทนา บาทหลวงโจเซฟ เอช ไมเออร์ หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ คุณพ่อโจ แห่งมูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล ศูนย์เมอร์ซี่ ก็เปิดประโยคที่ผู้เขียนยอมรับว่าไม่เคยได้ยินใครพูดมาก่อน บางทีผมคิด การทำงานเพื่อเด็กยากไร้ตลอด 45 ปีในชุมชนคลองเตยของเขาอาจจะกลั่นหลักธรรมบางประการออกมาเป็นประโยคนี้ก็ได้
ชายวัย 77 ปี (2560) พูดคุยด้วยรอยยิ้มบนเก้าอี้ไม้ทางเดินเข้าด้านหน้าของศูนย์ฯ เขาทักทายผู้คนที่เดินผ่านไปมาทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ที่เข้ามาติดต่อธุระ “วันนี้เป็นยังไงบ้าง” “เธออ้วนขึ้นรึเปล่า” “ยายสบายดีไหม” ภาพของชายชาวเมืองลองวิว รัฐวอชิงตัน นั่งยิ้มแย้มสดใสอยู่ในที่ที่เขาร่วมก่อตั้งขึ้นมา เขาเริ่ม เดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 หลังจากเริ่มงานในประเทศลาวมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ในฐานะบาทหลวง
งานแรกในเมืองไทย เขาได้รับหน้าที่ดูแลโบสถ์คาทอลิกที่โรงหมูในชุมชนคลองเตย ซึ่งคาทอลิกส่วนใหญ่เป็นคนงานในโรงฆ่าสัตว์ละแวกนั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2516 เขาจึงร่วมมือกับ ซิสเตอร์มาเรีย ฉันทวโรดม ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล (ศูนย์เมอร์ซี่) และดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน
“ผมอยู่ในโรงหมู 30 ปี ตั้งแต่ย้ายมาที่เมอร์ซี่ยังไม่ได้ตรวจสุขภาพด้วย อยู่กับหมูแล้วสุขภาพ ไม่ดีเท่าไหร่”
เมื่อมองย้อนไปในห้วงเวลาอันยาวนานตลอดการทำงาน จนได้รับปริญญาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2545 นั่นถือเป็นการประกาศความยอมรับอย่างหนึ่งจากผลงานที่เขาทำเพื่อสังคมในประเทศไทย ในขณะที่เมอร์ซี่ก้าวข้ามปีที่ 45 ไปแล้ว คำว่า “เราไม่ได้อยู่ในโลกนี้เพื่อจะรวย” ในความหมายของเขาเป็นอย่างไร เชื่อว่าหลายคนคงอยากทราบความบางอย่างที่เขาไม่เคยบอก
แต่เดิมพื้นฐานชีวิตเป็นอย่างไร?
เป็นเด็กยากจนเหมือนกันนะ แล้วก็มีบุญมาเป็นบาทหลวง แล้วเราก็เข้าไปอยู่ในโรงหมู คนที่เป็นชาวคริสต์รวยๆ ชาวพุทธดีๆ ชาวอิสลามดีๆ จะไม่ทานหมู ผมใช้เวลาเกือบสองปีกว่าชุมชนจะอนุญาตให้ผมเข้าไป ไม่ใช่กูใหญ่โต กูเป็นบาทหลวง ไม่ ไปเยี่ยมเขาก่อนประมาณสองปี เทียวไปเยี่ยมจนเขาไว้ใจ แล้วก็รู้จักกัน แล้วก็ได้รู้จักกับพระภิกษุที่ตายไปแล้ว ท่านเป็นคนที่มุ่งมั่น เราเทียวไปจนท่านยอมรับ หลังจากไม่ไว้ใจผมมายี่สิบกว่าปีนะ จนท่านเห็นว่าเราไม่ได้ทำผิดกับชาวพุทธ
ทำไมเลือกมาใช้ชีวิตช่วยเหลือคนอื่นแบบนี้?
ก็คนอื่นเขาช่วยผมมากกว่า ผมคิดแบบนี้นะ ผมไม่ได้เป็นใหญ่เป็นโต ผมไม่ได้เป็นอะไรในโลกนี้นะ ก็แค่คนธรรมดา แล้วก็มีบุญที่ชาวบ้านเขายอมรับเรา ถ้าชาวบ้านรักเรานี่เป็นบุญ เป็นเกียรติสูงสุดที่จะได้ ไม่ใช่จะเอาโล่ เอานี่ เอานั่น เขารักเรา เราก็รักเขา อันนี้เป็นพลัง แล้วเราจะเอาเกียรติมากกว่านี้หรือ มันไม่ใช่
สิ่งที่เมอร์ซี่ยึดถือมาตลอดคืออะไร?
มันไม่ใช่เราเป็นผู้สำคัญหรืออะไร หลังจากเราเป็นผู้รับใช้ เราต้องปฏิบัติ ที่นี่มีเด็กประมาณ 200 คน
ก็ต้องถือว่าเด็กเป็นเจ้าของบ้าน สมมุติว่ามีคนจะมาเยี่ยมเด็ก เราต้องขออนุญาตจากเด็ก เป็นบ้านเขา ฉะนั้น ไม่ว่ารัฐบาลหรือใครก็เข้ามาไม่ได้ ต้องขออนุญาต ถึงเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ บางทีเขาเห็นข้อนี้เขาก็ไม่เอา แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ดีดีนะ เขาเข้าใจทันที
โรงเรียนของศูนย์เมอร์ซี่ (รร.ยานุส คอร์ซัค) รับเด็กประเภทไหน?
เด็กส่วนใหญ่ก็คือ มีญาติ มีพ่อ มีแม่ อยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย แต่ไม่มีเงินส่งไปเรียนที่อื่น เขาก็จะส่งมาที่นี่ อย่างของเรา เริ่มต้นเลยคือเป็นโรงเรียนวันละหนึ่งบาท จากที่ใกล้ๆ โรงหมู แล้วหลังจากนั้นก็คือ
ผู้ปกครองที่มีเงินเขาอยากช่วยมากขึ้นเพิ่มเป็นวันละห้าบาท แล้วตอนนี้เป็นสิบบาท ยี่สิบบาท แล้วแต่กำลังทรัพย์ของผู้ปกครอง ถ้าไม่มีเงินเราก็ให้มาโรงเรียน หลักๆ ก็คือต้องมาโรงเรียน ไม่ว่ายังไง มีเงินหรือไม่มีเงินอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องมาโรงเรียน โรงเรียนยานุส คอร์ซัค มีกันประมาณ 350 คน เป็นโรงเรียนใหญ่ที่สุดที่เรามี เป็นระดับอนุบาล ตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง ถึง 6 ขวบ หลังจากนั้นผู้ปกครองจะพาไปเรียนที่อื่น แต่ถ้าเขาไม่มีเงินเราก็มีโปรแกรมให้ทุนการศึกษาแก่คนในชุมชน ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 600 คนที่อยู่ในชุมชนของเรา และหน้าที่ของเราก็คือหาสปอนเซอร์มาสนับสนุนค่าเรียน 8,000 บาท ต่อคน/ต่อปี
พื้นฐานเด็กที่เข้ามาเรียนที่นี่เป็นยังไง?
คุณครูของที่นี่มีประสบการณ์สอนมา 10 ปีขึ้นไป ที่นี่เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กที่ไม่สามารถเข้าเรียนโรงเรียนในระบบได้ ปัญหาของเด็กจะแตกต่างกัน บางคนไม่มีใบเกิด บางคนเรียนไม่ต่อเนื่อง เกิดจากอารมณ์รุนแรง หรือบางคนบกพร่องทางสมองด้วย ปัจจุบันนี้ นอกจากเราจะสอนคนไทยแล้ว เรายังสอนเด็กต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นเด็กกัมพูชา พม่า ลาว จะมีนักศึกษามาช่วยเหลือบ้างแต่จะเป็นส่วนน้อย ในปีนี้มีมาแค่กลุ่มเดียว จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะโรงเรียนของเราไม่ใช่โรงเรียนแบบเปิด หรือเป็นโรงเรียนที่มาสัมผัสแล้วบอกต่อ
นอกจากจะสอนวิชาทั่วไป เช่น อ่าน เขียน ยังมีการสอนทำขนม สอนวิชาชีพต่างๆ อย่างเช่น ช่วงเช้าๆ น้องๆจะตั้งร้านขายกาแฟ และทำขนมขาย เด็กกลุ่มนี้ค่อนข้างจะไปเรียนต่อในระบบได้ยาก เราจึงต้องเสริมวิชาชีพเพื่อที่เขาจะสามารถไปใช้ชีวิตประจำวันได้
ผู้ปกครองในชุมชนคลองเตยสนับสนุนให้บุตรหลานมาเรียนมากน้อยแค่ไหน?
ที่นี่เปิดมาปีนี้ครบ 45 ปี ในวันที่ 11 มีนาคม(2560) มีสมาชิกเยอะ เนื่องจากเด็กในชุมชนเยอะ และเราต้องการจะช่วยเหลือเด็กในชุมชน เราจึงต้องช่วยเหลือพ่อแม่เขาด้วย เพราะพ่อแม่ต้องการให้ลูกอยู่กับเขาเพื่อที่จะช่วยเหลือเรื่องอื่น ในสมัยก่อนก็จะมีการให้ออกไปขายของ ไม่อยากให้มาโรงเรียน เราเข้าไปขอเขาว่าให้ส่งลูกมาที่โรงเรียนนะ เขาก็จะปฏิเสธว่า ไม่มีเงิน ไม่อยากให้มา สุดท้ายเราก็ช่วยเหลือครอบครัวด้วย ครอบครัวขาดแคลนอะไร ถ้าไม่มีงานเราก็จะช่วยเขาหางานที่สามารถทำได้ ส่วนใหญ่จะทำงานในท่าเรือ พอช่วยเหลือครอบครัว ครอบครัวเขาก็จะไม่มีภาระ เขาก็จะส่งลูกมาที่โรงเรียน ลูกไม่มีเงินก็ให้มาโรงเรียน
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเด็กในโรงเรียนของศูนย์เมอร์ซี่คืออะไร?
ห้องน้ำสำคัญที่สุด ห้องน้ำต้องปลอดภัย ประตูต้องมองเห็นจากด้านบนได้ และเปิดปิดได้ตลอด เพราะจะมีผู้ใหญ่เข้ามาทำร้ายเด็กเกี่ยวกับเรื่องเพศตลอด มีการละเมิดตลอด ห้องน้ำแบบนี้นั่งไปแล้วจะไม่มีใครมองเห็น ในทางเดียวกันก็จะปลอดภัย เด็กๆเข้าไปก็จะทำธุระของเขา แต่ถ้าเรียกร้องหรือมีปัญหาอะไรจะเห็นได้ทันที
เราคิดกฎใหม่หลายอย่าง แต่เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ไม่ได้ทำเพื่อส่วนตัว ไม่ได้ทำเพื่อได้กำไร ที่อื่นสถานที่อาจไม่เพียงพอ ต้องมีอย่างนี้ ต้องมีอย่างนั้น แต่ที่นี่เราไม่ต้องไปทำ แล้วแต่คนจะให้ เรามีอยู่เท่าไหนเราก็โอเค
เด็กที่นี่มีวีรกรรมแสบๆ กับผู้ใหญ่บ้างไหม?
เคยมีรัฐมนตรีสาธารณสุขจากสหรัฐอเมริกามาเลี้ยงไอติมกับเด็ก แล้วเด็กก็ถาม “เอาแปรงสีฟันมารึเปล่า เพราะว่าหลังจากกินไอติมนะ ยูต้องแปรงฟัน” แบบนี้แหละ ใช้ได้ เป็นตัวอย่างที่ดี (หัวเราะ)
ก่อตั้งมา 45 ปี เมอร์ซี่ทำงานเงียบๆมาตลอด?
เรามีโรงเรียน 23 แห่ง มีเด็กสามพันกว่าคน เราไม่ได้ชิงดีชิงเด่นนะ เราพยายามไม่อยู่ในหนังสือพิมพ์ เพราะว่าถ้าเราอยู่ในหนังสือพิมพ์ เช่น คดีชาวไทยใหญ่ถูกผู้มีอิทธิพลยิง คนจะยิงเขาทิ้งไม่ได้ เขาเป็น ผู้เสียหาย จะทำให้หมดโอกาสจับผู้กระทำผิด ฉะนั้น เราเป็นของเราเงียบๆ เดี๋ยวนี้มีเด็กในสลัมห้าสิบกว่าคน ซึ่งเป็นเด็กพิเศษ เราส่งร่วมกับรัฐบาล เพชรบุรีบ้าง ลพบุรีบ้าง ที่มีโรงเรียนเด็กพิเศษของรัฐ ซึ่งมันโอเค
บางคนทำงานกับเด็กใต้สะพานพุทธฯ วันเด็กก็จะเอาของไปให้เด็กใต้สะพานพุทธฯ ตำรวจเขารู้จัก บอกว่ามาจากเมอร์ซี่ก็โอเค ฉะนั้นถ้าอยู่เงียบๆไม่ต้องเอาหน้าเอาตา ทำงานได้เยอะนะ เหมือนกับปิดทองหลังพระ
เดี๋ยวนี้มีคนที่รู้มาเยี่ยมผู้ป่วยโรคเอดส์ประมาณ 300 คนต่อเดือน แต่เราก็เงียบๆไม่ได้พูดอะไรมากมาย เราทำแบบนี้ สอนหนังสือเด็กประมาณ 3,500 คนต่อวัน มันเยอะนะ แล้วตอนนี้มีโรงเรียนเป็นกระต๊อบในสลัม ซึ่งผิดกฎหมาย ต้องมี 1 ตารางเมตรต่อ 1 คน ต้องมีห้องน้ำสำหรับอันนี้อันนั้น ก็มันอยู่ในสลัม มีข้อจำกัด
เคยถูกอิทธิพลรังแกบ้างไหม?
เรามีนักสิทธิเด็ก เรามีทนายความ และเรารู้จักหลายๆคน แม้แต่คณะกรรมการหมู่บ้าน ชาวบ้าน ไม่มีปัญหา แต่ถ้าต้องการคนก็เอาเด็กจากโรงหมูก็ได้ (หัวเราะ) เด็กจากใต้สะพานพุทธฯก็ได้ เราไม่เล่น แต่ถ้าอยู่ๆมีคนทำร้ายเด็กเรา หรือคนของเรานะ เราไม่ยอม
เคยมีครั้งหนึ่งนะที่เราพาเด็กจากพัทยาซึ่งโดนละเมิดมากทีเดียว พอแก๊งที่พัทยามาตามที่นี่นะ เขาโวยวายมึงเอาเด็กของเรามาทำไม เสร็จแล้วมีเด็กประมาณยี่สิบคนของเรามาจากโรงหมู โรงควาย บอกที่นี่คือที่ของเรานะ นี่ไม่ใช่ถิ่นของมึงนะ มึงกลับไปได้เลย (หัวเราะ) ปกติเราจะไม่เล่น ถ้าไม่จำเป็น
เจอคำสบประมาทบ้างไหม?
ส่วนมากก็ไม่ เราต้องยิ้ม
45 ปี ของศูนย์เมอร์ซี่ มีอะไรที่อยากจะบอกแก่สังคม?
อันดับแรกคือ เราต้องเป็นผู้รับใช้ของสังคมนะ เราต้องถ่อมตัว เราต้องถือว่าตัวผมเองเป็นฝรั่ง และประเทศไทยอนุญาตให้ผมอยู่ เราต้องขอบคุณประเทศไทยที่รักเรา ที่อนุญาตให้เราอยู่ในประเทศ เราต้องขอบคุณผู้ปกครองที่ไว้ใจให้เราสอนลูกหลานเหลนโหลนของเขา
แล้วก็เรื่อง "เงิน" เราไม่รวย และเราก็ไม่ได้อยู่ในโลกนี้เพื่อจะรวย เงินในมูลนิธิฯ ก็เหมือนกัน มันไม่ใช่ของผม เป็นของโบสถ์ของคณะกรรมการซึ่งเป็นคนไทยทั้งหมด ฉะนั้นเงินยังอยู่ในเมืองไทยและก็ต้อง อยู่ที่นี่
อายุ 77 ปีแล้ว กับงานที่ผ่านมา รู้สึกยังไงบ้าง?
ก็มีความสุขในชีวิต แล้วก็มีความสุขที่เป็นบาทหลวง ถ้ามีลูกเต้าก็ต้องเรียนมหาวิทยาลัย ก็ต้องมีนี่มีนั่น แต่ทีนี้เราอยู่คนเดียวก็โอเค เช่นที่อยู่ในโรงหมู 30 ปี อยู่คนเดียวได้ อยู่บนคอกหมูได้ แต่ถ้ามีเมียมีลูกแล้ว เราจะเชิญผู้หญิงดีๆ หรือผู้หญิงที่ไหนเขาจะเข้าไปอยู่กับเราในคอกหมูได้ ฉะนั้น อยู่คนเดียวมันก็ดี ตั้งแต่ย้ายมาที่เมอร์ซี่ยังไม่ได้ตรวจสุขภาพด้วย อยู่กับหมูแล้วสุขภาพไม่ค่อยดีเท่าไหร่
ไม่อยากพักบ้างหรือ?
ก็มีความสุขในเรื่องนี้ ไม่รู้จะไปทำอะไร เราเพียงแค่ออกความคิดอะไรต่างๆ เช่น ในที่ประชุมนี้ เขาไม่กล้า ฉะนั้นเราต้องให้เจ้าหน้าที่ของเราต้องกล้า กระตุ้นเขา นอกนั้นก็โอเค
อยากบอกอะไรกับสังคม
ให้ทำความดี เป็นคนดี แค่นั้นแหละ.
Comments