top of page

ปลูกฝังสันติภาพ อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย : ชลลดา ซัววงษ์

อัปเดตเมื่อ 19 ก.ย. 2562

โดยภาพรวม อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย สอนวิชาความรู้ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาเหมือนกับโรงเรียนแห่งอื่นๆ สิ่งที่ต่างกันคือ สถานศึกษาแห่งนี้ปลูกฝังให้เยาวชนทุกศาสนาได้เรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีสันติภาพ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายเดียวกับโลก


ชลลดา ซัววงษ์ ครูวิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย สะท้อนมุมมองผ่านประสบการณ์ 30 กว่าปีในความเป็นครูว่า นักเรียนที่นี่มีที่มาและความบอบช้ำอันหลากหลาย ทั้งจากความไม่สงบทางภาคใต้ซึ่งเป็นบ้านของพวกเขาเอง ทั้งจากปัญหาเรื่องฐานะการเงิน หลายคนได้ทุนมาเรียนที่นี่เพราะสูญเสียผู้ปกครองในเหตุการณ์สึนามิ


"ที่นี่เหมือนนักเรียนแลกเปลี่ยน มีทุกศาสนา และเปิดโอกาสให้สวดมนต์หรือทำพิธีตามศาสนาของตนอย่างเท่าเทียม เราพยายามสร้างเมล็ดพันธุ์ให้เขาอยู่ร่วมกันตั้งแต่เด็กในกรุงเทพฯ พอจบออกไปแล้วเขาจะได้อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน"

อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทยมีลักษณะความเป็นมาอย่างไร ?

"โรงเรียนเราเป็น ‘อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย’ ตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา 2488 เพื่อให้เด็กนักเรียนทุกศาสนามาเรียน แต่ถ้าเป็นมุสลิมทางใต้เราจะให้เขาอยู่หอพัก ส่วนใหญ่เป็นเด็กสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาพักฟรี มีอาหาร 3 มื้อ ตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 4-6 พอเขาเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัยแล้วเขาก็กลับไปทำงานที่บ้าน บางคนเป็นข้าราชการ อบต.บางคนไปเป็นนักการเมือง เป็นเจ้าของรีสอร์ท แต่พวกนี้จะมีปัญหาทางใต้ที่รู้กัน จึงเกิดทุนนี้ขึ้นมา รัฐบาลให้ทุนช่วยเพื่อให้มาเรียนในกรุงเทพฯ แล้วเป็นเพื่อนกับเด็กกรุงเทพฯ เป็นเพื่อนกับเด็กศาสนาพุทธ ทางเด็กพุทธก็รู้จักมุสลิมว่าเป็นยังไง กินหมูไม่ได้เพราะอะไร จะได้อยู่ทางใต้อย่างสงบสันติสุข นี่คือ อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย"


เด็กๆ ที่นี่ส่วนมากฐานะเป็นอย่างไร ?

"ระดับกลางจนถึงยากจน จึงได้ทุนมาเยอะ ส่วนใหญ่หอพักนอนกันเฉพาะเด็กที่มาจากจังหวัดไกลๆ เช่น ยะลา นราธิวาส สงขลา ปัตตานี บางคนขึ้นมากรุงเทพฯ เพราะพ่อถูกยิงเสียชีวิต โดนระเบิด โดนสึนามิ ที่นี่มีตึกชื่อ ‘สึนามิ’ ได้งบจากเหตุการณ์สึนามิ ตอนที่สึนามิเข้าพ่อแม่เด็กเสียชีวิตหลายคน เด็กจึงถูกส่งมาเรียนที่นี่ เพราะเสียพ่อแม่ไปจากเหตุการณ์นั้น เขาจะอยู่อย่างไร เด็กๆ จบ ม.3 แม่ไม่อยู่แล้ว เขาเล่าให้ฟัง พลัดกับแม่ตอนที่สึนามิมา จับมือแม่แล้วเขาก็คว้ายอดมะพร้าวไว้ แต่แม่หมดแรงหลุดมือไปเสียชีวิต ตัวลูกค้างอยู่บนยอดมะพร้าวกลางน้ำ เด็กรุ่นนี้ที่ประสบเหตุการณ์สึนามิเราจึงดูแลเขาจนเรียนจบมหาวิทยาลัย รุ่นนี้เรียนจบธรรมศาสตร์หลายคน รับปริญญาไปหมดแล้ว"


อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทยมุ่งเน้นเกี่ยวกับอะไร ?

"จะสอนให้เด็กไปอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข แม้จะแตกต่างแต่ไม่แตกแยก อยู่ร่วมกันได้ รักกันได้ แต่งงานกันได้ เรียนรู้ศาสนาซึ่งกันและกันเพื่อจรรโลงสังคมแล้วทำให้ชายแดนใต้สงบสุขขึ้น เหมือนกับสร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่รู้จักกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยใช้แนวทางของ ‘มูลนิธิครอบครัวพอเพียง’ เป็นสื่อให้เด็กได้ทำ ‘กิจกรรมจิตอาสา’ ร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกศาสนา ที่นี่มีทั้งพุทธและมุสลิม ให้เขาอยู่ร่วมกันตั้งแต่เด็กๆ ก่อนไปใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม คล้ายๆ นักเรียนแลกเปลี่ยนระดับจังหวัด ตอนนี้จากเชียงใหม่ก็มีมา ชาวม้งที่เป็นมุสลิมก็มาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน"


เป้าหมายของที่นี่คือสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ดีเพื่อลดความไม่สงบที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ ?

"ที่นี่มีวิสัยทัศน์ว่า สมานฉันท์ สันติสุข ไม่ให้ตีกัน ไม่ให้ทะเลาะกัน ไม่ให้วางระเบิดใคร ให้รู้จักรักพวกพ้องเหมือนพี่น้องกันทุกคน เราสร้างเมล็ดพันธ์รุ่นใหม่จริงๆ ท่านมุข สุไลมาน ต้องการแก้ปัญหาความไม่สงบด้วย อันนี้เป็นจุดประสงค์ของอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย จุดประสงค์หลักของโรงเรียน เด็กก็รับทราบ เขาเรียนรู้ว่าจะอยู่ด้วยกันยังไง จะรับมือยังไง ด้านวิชาการเขาก็อยากได้เกรดสูงเหมือนกัน แต่เราบอกว่าเกรดสูงแล้วเอาไปทำอะไร ทำงานก็ไม่ได้ บางทีเก่งจนเพื่อนไม่คบ บางทีก็ไม่คบเพื่อน คนมีเกรดสูง ต้องมีความมั่นคงในอารมณ์ ต้องมีวิจารณญาณ ต้องรู้จักแก้ปัญหาเป็น จึงจะมีชีวิตอยู่ได้"


หมายความว่า ถ้าสันติภาพไม่เกิด การเรียนการศึกษาก็ไปไม่รอด ?

"ใช่ คนก็ไม่มีงานทำกันอยู่ดี รบกันอยู่คุณจะเป็นอะไร คุณจะเป็นที่ 1 ของประเทศหรือ ต้องดีก่อน แล้วจึงจะเก่ง แข่งโอเน็ตกันทำไม สอบโอเน็ตแล้วยังไง เป็นที่ 1 แล้วเป็นยังไง คนเก่งแล้วเป็นยังไง เราก็คนไม่เก่งแต่เราก็อยู่รอดแบบนี้ได้ เราได้รับความนับหน้าถือตาจากชาวโลกด้วยซ้ำไม่ใช่แค่ชาวไทย เป็นชาวโลก"

ในมุมมองของครูก็คือ เน้นความดี นำ ความเก่ง ?

"ใช่ค่ะ ดีนำเก่ง ไม่จำเป็นต้องเก่งเราก็อยู่ได้ คนเก่งมีกันกี่คนในประเทศ บางทีเก่งมาแล้วเห็นแก่ตัวด้วย ถ้าเก่งแล้วเสียสละก็จะเป็นคนดี อย่างน้อยเขาก็เป็นคนดีที่เสียสละ เขาเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเพื่อน แต่ไม่ใช่ไปบอกข้อสอบนะ ช่วยเหลืออธิบายให้เพื่อนเข้าใจ ของมันไม่ได้ยาก เราเน้นเด็กให้ดีนำเก่งด้วย ไม่งั้นไม่มีละหมาด ไม่มีสวดมนต์


"ถ้าหากดีนำเก่ง จะทำให้สังคมสงบสุขราบรื่น แต่ถ้าเก่งนำดี คนเก่งอาจจะไม่ดีก็จะมีการฉ้อโกงเกิดขึ้น เพราะคนเก่งก็อาจจะซุกความไม่ดีไว้แล้ววางแผนแปดสิบตลบ คนอื่นตามไม่ทันเขาเพราะเขาเป็นคนเก่ง เอาความเก่งมาใช้ในทางที่ผิด เราก็ต้องสมควรสร้างความดีให้กับเด็กๆ เยาวชนรุ่นใหม่ สั่งสมเข้าไป ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ดูแลสังคม จิตอาสา คนเก่งเคยไปป้อนข้าวที่บ้านบางแคไหม คนเก่งเคยไปดูแลน้องๆ คนพิการไหม เคยเห็นไหม ไม่เคย อ่านหนังสือของตัวเองอย่างเดียว ก็เก่งสิอ่านทั้งวัน ไม่ทำอะไรเพื่อใครเลย คนนั้นล้างจานช่วยพ่อแม่แทบแย่ ไม่มีเวลาแล้วจะไปเก่งได้ยังไง แต่มันก็ล้างจานได้ มันก็ได้ค่าจ้างล้างจานไปกินข้าว ก็พอเอาตัวรอดได้ แล้วคนเก่งล่ะ พ่อแม่ล้มละลายล้างจานก็ไม่เป็นอีก ไปทำงานก็ไม่เป็นอีก เอาไงทีนี้ ทักษะชีวิตไม่มี เอาชีวิตตัวเองไม่รอด แก้ปัญหาไม่ได้"


ครูมองว่าทักษะชีวิตสำคัญกว่าวิชาการ ?

"ใช่ค่ะ ครูมองว่าสำคัญกว่าการสอบได้คะแนนเยอะๆ เพราะมันจะได้ใช้ชีวิตต่อไป มันไม่ได้ใช้การเรียนต่อไปนะ เพราะว่าถ้าเราเข้าไปทำงานได้แล้ว เราใช้ทักษะชีวิต ทักษะความเก่งใช้วันเดียวในการสอบ นอกนั้นใช้ทักษะชีวิต ไปทำงานมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานคุณทำยังไง คนนั้นไม่ชอบขี้หน้าคุณคุณจะทำยังไง เขาบอกไอ้นี่ไม่เคยให้ฉันเลย เขาชวนไปงานแต่งงานก็ไม่ไป ไม่อยากไป ไม่มีความสำคัญ แล้วพอถึงเวลาเราก็ไม่มีใครมา เหมือนมันเป็นเรื่องง่ายๆ ที่เด็กเองก็ไม่รู้ว่าตรงนี้ไม่ควรเถียงคุณครูนะ ควรนั่งฟังเฉยๆ เด็กบอกไม่ได้เถียงนะหนูพูดเฉยๆ นั่นแหละแบบนี้เรียกเถียง เพราะเราไม่มีทักษะชีวิต เพราะเราไปเน้นการเรียนมากกว่า เด็กเขาก็ไม่รู้"


ในด้านภาษาครูมีแนวทางแนะนำเด็กยังไง ?

"ต้องให้เด็กพูดได้ แล้วเราก็ไม่พูดภาษาไทยกับเขา เขาพูดภาษาไทยมาเราพูดภาษาอังกฤษกลับ เขาก็พยามฟัง ฟังให้เข้าใจคำถามแต่จะตอบเป็นภาษาไทยก็ได้ ถือว่ายังฟังรู้เรื่อง พยายามให้เขาพูดให้เขาเขียน อย่างไปเที่ยวก็ให้ถ่ายรูปแล้วบรรยายเป็นภาษาอังกฤษมาส่ง เรื่องภาษาอังกฤษเด็กสมัยนี้จะไวกว่าเมื่อก่อน แต่เด็กสมัยก่อนจะสนใจเรียนมากกว่าเด็กสมัยนี้


"นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีภาษาอาหรับ มีมารยู มีเรียนภาษาอียิปต์บ้าง เพราะว่าเด็กครึ่งหนึ่งเป็นมุสลิม ครึ่งหนึ่งเป็นพุทธ แล้วก็ 10% เป็นคริสเตียน ตอนกลางวันเขาละหมาดอยู่ที่ห้องๆ หนึ่งของอิสลาม ส่วนอีกห้องหนึ่งสวดมนต์ทางพุทธศาสนา พุทธก็สวดมนต์ทุกวัน อิสลามก็ละหมาดทุกวัน คริสเตียนก็ไปอยู่ห้องคริส ไปทำพิธีของเขา ที่ผ่านมายังไม่พบปัญหาระหว่างศาสนา เพราะเขาจะเรียนในหลักสูตรว่าศาสนานี้เป็นแบบนี้ ศาสนานี้เป็นแบบนี้"


เวลาสอน ครูมีเทคนิคส่วนตัวยังไงให้เด็กหันมาฟัง ?

"ให้เด็กปฏิบัติมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เราจะไม่ให้ฟังเราอย่างเดียว สมมุติว่าเป็นคลาสการอ่านก็ช่วยกันอ่าน พอช่วยกันอ่านเสร็จก็ทำงานเลย ทำให้เสร็จในคาบเลย ไม่ต้องมีการบ้าน เดี๋ยวเด็กขี้เกียจอีก เพราะเดี๋ยวให้การบ้านไปทำบ้างไม่ทำบ้าง ลอกกันบ้าง ทำในห้องเสร็จจบไปเลย ให้คะแนนเลย แต่ละงานใครส่งก่อนให้คะแนนมากกว่า ก็ตัดกันไปเลย ตัดความขยันแล้วก็มีสแตม์ปให้ ใครส่งก่อน ส่งหลัง ให้คะแนนเป็น ดีมาก ดี พอใช้ ลดหลั่นกันไป


"นักเรียนจะมีกลุ่มในเฟสของแต่ละห้อง สร้างกลุ่มเฟสหรือกลุ่มไลน์ ทุกคนต้องเข้าในห้องนี้ สั่งงานผ่านตรงนี้เลย ใครไม่มาเรียนก็แชทเฟสเลย มันก็ดีเพราะเห็นว่าใครอ่าน พอเปิดปุ๊บเราก็จะเห็นว่าอ่านแล้ว แล้วก็เป็นหลักฐานว่าอ่านแล้ว แล้วงานอยู่ไหน ถือว่ารับทราบแล้วอยู่ไหนส่งมาเร็ว ถ้าส่งแล้วมันก็จะค้างอยู่ในนั้น ยืนยันได้ ใครส่งแล้ว"


สังคมภายนอกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ครูมีการปรับตัวและแนะนำเด็กยังไง ?

"ต้องให้เด็กรู้ทันว่าใครจะมาหลอกเรา สมมุติในโซเชียลมีเดียมีคนมาจีบเรา ผู้หญิงก็ต้องรักนวลสงวนตัว พันธกิจด้านสังคมของครอบครัวพอเพียงที่ให้ดูแลตัวเอง สอนให้เด็กรักนวลสงวนตัว ผู้ชายก็ต้องรู้จักรับผิดชอบไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงก่อนเพราะว่าสังคมเป็นแบบนี้ เราอ่านในสื่อโซเซียลฯ ดูว่าเขาใช้อะไรกัน เล่นเกมอะไรกัน บางทีเราต้องลงไปเล่นกับเขาเลย ไม่งั้นไม่ทันเขา เรามีกรุ๊ปไลน์ เฟสบุ๊ค มีเพจห้อง เวลาเขาอยู่ในเฟสฯ เราก็บอกมาทำการบ้าน งานครูส่งรึยัง เด้งเข้าไปในเฟสที่เขากำลังดูอยู่ เป็นการปรับตัวเราให้เข้ากับเขาได้ แต่สายตาเราจะแย่ เหมือนงานเราจะหนักขึ้น ของเก่าเราก็ต้องคงอยู่ให้อนุรักษ์ประเพณีต่างๆ ไว้ ของใหม่เราก็ต้องไปเรียนรู้เพิ่มอีกเป็น 2 เท่า"


เท่าที่สัมผัสมาจากอาชีพครู สิ่งที่น่าห่วงสำหรับเด็กสมัยนี้คืออะไร ?

"เรื่องสื่อโชเชียลฯ ซึ่งเด็กติดมาก บางทีก็โดนหลอกโดยที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำโน้นให้ดูสิ ทำนี่ให้ดูสิอะไรแบบนี้ แล้วก็ถูกแบล็กเมล์เหมือนอย่างที่ข่าวออก เหมือนกับคำขวัญของท่านนายกฯ ยังมีเลย รู้เท่าทันเทคโนโลยี ต้องใช้ให้เป็น บางคนจมอยู่แต่ในโลกนี้เป็นอะไรก็จะบ้าเพ้อฝันไปเรื่อย แล้วก็ฆ่าตัวตายตามไปอีก คือต้องให้เขาฉลาด มีความฉลาดวิเคราะห์ปัญหาของตนเอง มีความฉลาดทางอารมณ์ไม่เป็นทาสของอารมณ์


"เพราะสภาพครอบครัวและสังคมค่อนข้างแตกแยก ก็พยายามสอนให้เขาดูคู่ครอง ต้องหาที่จะไปกันได้ แล้วถ้าอยู่ด้วยกันก็ต้องอยู่ด้วยกันให้ยืดไม่ใช่จะเลิกกันไปมีใหม่ ยิ่งมีลูกแล้วทิ้งไว้ไปมีใหม่แบบนี้ไม่ได้ แม้จะเป็นมุสลิมเขาจะมีภรรยาได้ 4 คน แล้วความจริงมันทำได้ไหม ถ้าคุณทำได้เลี้ยงดูให้มันเท่ากันเหมือนที่เขาทำกันได้ก็โอเค แต่ถ้าทำไม่ได้ก็อย่ามี ตามหลักศาสนาก็ต้องมีความพร้อมด้วย"


ปัญหาส่วนใหญ่ที่เด็กๆ มาปรึกษาครูคือเรื่องอะไร ?

"ส่วนมากปรึกษามาทางไลน์ เงินไม่มีเราก็พาไปหาทุน หรือว่ามีปัญหาทางครอบครัว พ่อมีแฟนใหม่แม่ก็มีครอบครัวใหม่เขาจะดูแลตัวเองยังไง เขาจะอยู่ยังไง ก็ให้ทางออกว่าอย่าไปมองว่าเป็นปัญหาของเรา อันนี้เป็นปัญหาของผู้ใหญ่เขา เราก็โตของเราได้ ส่วนมากจะเป็นครอบครัวที่แยกกัน อาจไปอยู่กับยาย ยายเป็นคนเลี้ยง ย่าเป็นคนเลี้ยง แต่เด็กต้องการความอบอุ่นจากพ่อแม่ ส่วนมากครูจะให้ความเป็นกันเองกับเขา ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้เขากล้าพูดปัญหาของตัวเองออกมาเราจะได้ช่วยแก้ไข ไม่ใช่ตีหรือดุอย่างเดียว แต่ต้องอยู่ในระเบียบ ถ้าไม่ตีต้องคุยกันรู้เรื่อง ใช้คะแนนพฤติกรรมกับเขา


"มีความสัมพันธ์เหมือนเป็นเพื่อน มีความเป็นกันเอง เด็กก็สามารถเข้าถึงเราได้ แตกต่างกับสมัยก่อนที่ครูเรียน เราไม่อยากให้เด็กมองแบบที่เรามองครูเรา เอื้อมไม่ถึง แต่นี่วิ่งเข้ามากอดได้ เขาจะเรียกเรา “มะ” แปลว่า แม่ เป็นลูกทั้งโรงเรียน แต่เด็กจะเรียกมะทั้งเด็กพุทธและมุสลิม"


ปัญหาครอบครัวแตกแยกในปัจจุบัน ครูคิดว่าเป็นภาระกลับมาที่ครูไหม ?

"ใช่ ภาระมันกลับมาที่ครูเพราะว่า พอแตกแยกแล้วเวลาส่วนใหญ่ในกลางวันเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เด็กมาอยู่กับโรงเรียน เด็กมาอยู่กับครู คนแตกแยก ครอบครัวแตกแยก แต่ละคนมารวมกันอยู่ในสังคมเดียวกัน มันก็ชวนกันไปทำอย่างอื่นที่มันสะใจกับชีวิต บางทีก็ท้าทาย บางทีก็ประชดครอบครัว เพราะฉะนั้น ตัวกิจกรรมจะดูแลเด็กได้ดีไม่ให้ว่าง ไม่ให้ฟุ้งเฟ้อ บางคนปัญหาของตนเองมีมากอยู่แล้ว ให้เพื่อนมาช่วยกันแก้ไปในทางที่ผิดอีก ก็ไปกันใหญ่ ต้องอยู่กับครู ต้องอยู่กับผู้ใหญ่ ถึงต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษา สมัยก่อนเป็นอาจารย์ประจำชั้น เดี๋ยวนี้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาประจำห้อง"


ปัจจุบันมีการขับเคลื่อนเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครูแนะนำเรื่องนี้กับนักเรียนยังไง ?

"เราเอาไปแทรกในบทเรียนด้วย เด็กก็จะไปหาข้อมูลหรือไม่ก็มาดูที่สวนเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียน แล้วก็ทำรายงานส่ง ส่วนใหญ่เด็กจะมานั่งเล่นในสวนนี้ เขาก็สนใจถามว่าทำได้จริงหรือ ก็บอกว่า ดูสิ ไข่เก็บทุกวัน กินได้ทุกวัน ไข่สดด้วย ผักก็มี มะนาวเต็มต้นต้องซื้อไหมล่ะ ต้องทำให้เขาเห็น อยากกินน้ำปลาพริกสักถ้วยหนึ่งก็เดินไปเก็บพริกมาสิ แล้วก็มะนาวลูกหนึ่งไม่ต้องไปตลาดเลย ถ้าเธอซื้อมะนาว 10 บาท 3 ลูก ได้ใช้ลูกหนึ่งอีกสองลูกแช่ตู้เย็นก็เน่า พริกก็ซื้อ 10 บาท แล้วก็ใช้ 3-4 เม็ด แล้วนี่เก็บไว้ในต้นมันไม่เน่าด้วยจะกินก็เก็บมา สอนให้เห็นคือชีวิตจริงแล้วเขาก็อยากทำ ที่ไหนก็ทำได้ ขนาดกรุงเทพฯ ตึกเยอะๆ ยังทำได้เลย ที่บ้านของเด็กๆ ก็ทำได้เช่นกัน


"สมเด็จพระเทพฯ เสด็จ 2 ครั้งที่สวนนี้ เราพัฒนาทำเป็นแปลงเพาะ ไม่มีน้ำก็ต้องมีน้ำก่อน เราก็ไปอ่านใหม่ ในหลวงบอกว่าต้องมีน้ำก่อน ไปหาน้ำเลย ก็เขียนแปลนขุดล่องน้ำ บางทีน้ำแห้งฝนตกไม่ทัน ก็ต้องใส่น้ำประปาลงไป เลี้ยงปลากระชังเห็นเด็กในหอพักมาขอเอาไปย่างกิน ปลาดุก ไก่ก็เลี้ยงบนบ่อปลามันก็ขี้ลงไปเป็นอาหารปลา"


ความพอเพียงในมุมมองของครูเป็นอย่างไร ?

"ความพอเพียงจริงๆ มันไม่ใช่มาเป็นชาวนานะ ถ้าเรามีตังค์พอเราสามารถซื้อสิ่งของที่เราอยากใช้ได้ ให้มันอยู่ในงบประมาณที่มันพอประมาณ มันจะไปสู่ความพอเพียงได้ ถ้าเราไม่รู้จักพอ อันโน้นเราก็อยากได้ อันนี้เราก็อยากได้ มันก็เป็นหนี้ รู้จักเก็บรู้จักออมถึงคำว่าพอ ก่อนจะเก็บออมก็ต้องรู้จักประหยัดก่อน ทุกอย่างมันก็อยู่ในนี้ มันคือศาสตร์ของชีวิต ฝรั่งก็ศรัทธานะ ครูได้รับเชิญไปพูดเรื่องนี้ที่อเมริกา เกาหลี ก็บอกเขาว่าในหลวงเราเป็นยังไง ทุกคนน้ำตาคลอ อยากให้ในหลวงไปเป็นในหลวงของเขา ขนลุก ครูเหมือนเป็นคนส่งสาร ชาวต่างชาติเขาก็ชอบ นำมาซึ่งทุนให้เด็กไปเรียนภาษาอังกฤษที่เมืองไทย ให้ทุนมาทำค่าย แล้วหาฝรั่งมาให้ความรู้เด็กๆ ท่านทูตอเมริกาก็มาที่นี่ มาปลูกข้าว ท่านชอบใจมาก ให้ไข่ ให้กล้วยของเราตัดให้สดๆ เลย"


เท่าที่ครูได้รับเชิญให้ไปพูดเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในเวทีนานาชาติ ส่วนใหญ่เขามีความสนใจหรือสงสัยอะไรในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไหม ?

"เขาสงสัยว่าทำไมในหลวงต้องมาทำนา ทำไมในหลวงต้องลงไปที่ลำบากลำบน ทำไมต้องไปช่วยเหลือคน ทำไมไม่อยู่สบายๆ เหมือนกษัตริย์ทั่วไป เขาไม่เคยเจอ และอยากจะมีกษัตริย์แบบนี้ที่ประเทศเขาบ้าง เขามีแต่ฆ่ากันเอง แย่งอำนาจกัน เช่น กลัวเกาหลีเหนือจะปีนมาเกาหลีใต้อะไรแบบนี้ ก็เข้าหลักประชาธิปไตยได้ ถ้าคนแสวงหาประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยก็ต้องรู้ว่าประชาธิปไตยแค่ไหนถึงจะพอดี ไม่ใช่ฉันอยากจะทำอะไรตามใจ อยากจอดรถก็จอด ขาวแดงก็จอด จะกินก๋วยเตี๋ยวก็จอด แป๊ปนึง มันก็ไม่ใช่"


30 กว่าปีที่รับราชการครูมา มองตัวเองยังไง ?

"ไม่เคยมองตัวเองเลย ผ่านมาก็เยอะ ปัญหาก็เยอะ แต่ว่าไม่เอาปัญหามาเป็นปัญหา เรายึดหลักว่าพรุ่งนี้มันก็ผ่านไปแล้ว ทุกเหตุการณ์แหละ พรุ่งนี้มันก็ผ่านไป รอวันพรุ่งนี้มันก็จะผ่านไปได้ ปัญหาบางเรื่องมันพูดไม่ได้ แต่ผ่านมาได้ด้วยความอดทน อดกลั้นดีที่สุด โมโหก็กลั้นไว้ ท้อก็กลั้นไว้ ใช้ได้หมด ใช้ได้กับชีวิตจริง"


มีครูรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ แนะนำเขายังไงดี ?

"ครูสมัยนี้ต้องอดทนนะ ขยัน ซื่อสัตย์ แล้วก็ใส่ใจในงาน เพราะว่ามันไม่ใช่ง่ายๆ ที่จะเป็นครู ต้องดูตัวอย่างจากรุ่นเก่าๆ ไม่ใช่ว่าฉันจบนั่นจบนี่มาไม่ได้หรอก เพราะว่าการเรียนรู้อยู่ในประสบการณ์ ปัญหาที่เราเจอก็อาจจะเป็นสิ่งที่คนอื่นเคยเจอมาแล้ว ควรฟังคำแนะนำก็ดี เช่น บางโรงเรียนยังยึดครูรุ่นเก่าๆ ไว้อยู่ บางโรงเรียนก็ไม่มีแล้วมีแต่ครูรุ่นใหม่ ครูรุ่นเก่าก็เก็บเข้ากรุไป มันก็จะเสื่อมไป ของโบราณมีค่านะ ล้ำค่ามาก ไม่ใช่ของเก่ากะโหลกกะลา ซึ่งถ้าเราเป็นคนรุ่นใหม่ที่ยึดแก่นของความโบราณไว้ชีวิตรับราชการจะสมูท ครองคน ครองตน ครองงาน เป็นครูก็จะเจริญก้าวหน้า ทำงานอะไรก็จะเจริญก้าวหน้า เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ บางคนคิดว่าฉันเก่ง ฉันสอบได้ ฉันเรียนด็อกเตอร์ ฉันเรียนปริญญาโท เธอจบปริญญาตรี เธอจะมาแนะนำอะไรฉัน จะทำให้หลงทางไปกันใหญ่ ทำดีจะได้ดี ทำไม่ดีก็ต้องได้ไม่ดี ถ้ายึดไว้ก็จะเป็นคนดีกันทั้งหมด"


อายุข้าราชการที่เหลืออยู่อยากเห็นอะไรในโรงเรียน ในประเทศ หรือในครูด้วยกันเอง ?

"ในโรงเรียนนี้ก็อยากเห็นเด็กมาเรียนที่นี่เยอะๆ ครูก็อยากเห็นครูรับผิดชอบในการสอนมากขึ้น ใครที่ทิ้งคาบสอนก็เข้าสอนซะ ใครที่สอนอยู่ก็ทำสื่อการสอนให้มันดีขึ้น ทำแผนการสอนให้ดีขึ้นแล้วก็เขียนผลงานส่ง คส.3 คส.4 จะได้มีเงินประจำตำแหน่ง พอมีเงินประจำตำแหน่งแล้ว คุณก็ไม่ต้องไปสอนพิเศษ คุณก็สอนเด็กของคุณให้เก่ง เพราะคุณมีเงินตรงนี้แล้ว คุณทำโรงเรียนนี้ให้ดีขึ้น ส่วนเด็กก็อยากให้มีความดีเพิ่มขึ้น ให้มีความพอเพียงมากขึ้น ให้รักในหลวงมากขึ้น รักชาติมากขึ้น ครูในฝันของเราก็คือ ครูที่รับฟังความคิดเด็กอย่างมีเหตุผล สามารถโต้กลับให้เขายอมรับเหตุผลที่ถูกต้องได้"

ดู 169 ครั้ง0 ความคิดเห็น
เพลง ครอบครัวพอเพียง
00:00 / 02:09
bottom of page