top of page

อยู่กับความเปลี่ยนแปลงให้ได้ : ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ

อัปเดตเมื่อ 6 ก.ย. 2562

ในฐานะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ดูแลนักศึกษาถึง 28,000 คน จำนวนกว่า 32 คณะรวมทั้งสถาบันวิจัยต่างๆ ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ มองว่า “การเตรียมตัวสำหรับการอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ต้องการความยืดหยุ่น ต้องการความมุ่งมั่นในการทำสิ่งต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ซึ่งหมายรวมถึงนักเรียนแพทย์ทุกคน นอกจากจะต้องเตรียมตัวรับมือกับตำราความรู้ในการเรียนแล้ว ยังต้องเสริมสร้างทักษะชีวิตให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกอีกด้วย

“อาชีพแพทย์” ถือเป็นความใฝ่ฝันของน้องๆ เยาวชนหลายคน รวมถึงผู้ปกครองไม่น้อยก็มีความใฝ่ฝันอยากให้บุตรหลานได้เรียนแพทย์ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม หลายคนเมื่อได้เข้าไปเรียนแล้วกลับไปไม่ถึงฝั่งฝัน บางคนถึงกับคิดสั้นเมื่อพบว่าการเรียนไม่ประสบผลอย่างที่หวังไว้ “ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตเราบางทีอาจจะเป็นครั้งแรกในชีวิต แต่มันไม่ได้เป็นครั้งแรกในโลกใบนี้” ศ.นพ.บรรจง ให้ข้อคิดเตือนสตินักเรียนแพทย์รุ่นใหม่ทุกคนที่ก้าวขึ้นมา “ไม่มีปัญหาใดที่ไร้ทางออก” แม้เขาเหล่านั้นต้องฝ่าฝันความยากลำบากอีกมากกว่าจะได้ชื่อว่าเป็นแพทย์


“ความยากจะทำให้เราเข้มแข็ง ถ้าหากว่าเราไม่กลัวกับความยาก ไม่กลัวกับปัญหา เราก็จะมีปัญญาแล้วก็จะมีความเข้มแข็ง” ในบทสัมภาษณ์นี้ ศ.นพ.บรรจง ถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดของตนเองไว้มากมาย เพื่อเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้กับเยาวชนทุกคนซึ่งปรารถนาจะเป็นแพทย์หรืออาชีพอื่นๆ ที่ต้องการ กล่าวคือ ไม่ได้เป็นเพราะเรียนเก่งอย่างเดียว หากเป็นที่จิตใจและการบ่มเพาะอย่างถูกต้องเหมาะสมจากต้นแบบที่ดี แนวคิดในการดำเนินชีวิตและหลักคิดในการจัดการกับอุปสรรคของท่านจะเป็นอย่างไร ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์นี้

ท่านเริ่มเรียนที่ไหน ?

"ผมเกิดที่กรุงเทพมหานครครับ อยู่แถวหนองจอก มีนบุรี ผมมีพี่น้อง 5 คนครับ ตัวผมเองเป็นพี่คนโต เริ่มเรียนชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ แล้วมาเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา(รุ่น 34) จากนั้นผมมาเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นนักเรียนแพทย์ที่ศิริราชพยาบาล รุ่น 84


"หลังจากจบคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผมไปเป็นแพทย์ฝึกหัดแล้วก็เป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลศิริราชครับ โดยรับทุนจากคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น แล้วจึงเริ่มเป็นอาจารย์แพทย์ในปี พ.ศ. 2526-2536 ที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในขณะที่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมมีโอกาสไปดูงานที่ประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน และที่แคนาดา แต่ละที่เป็นช่วงระยะเวลาประมาณ 3 เดือน จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นผมกลับมาที่โรงพยาบาลศิริราช มาดูแลด้านออร์โธปิดิคส์(รักษาโรคกระดูก) แล้วก็อยู่ที่ศิริราชมาถึงปัจจุบันครับ ต้นสังกัดอยู่ที่นั่น"

ทำไมถึงเลือกเรียนแพทย์ ?

"ครอบครัวผมมีฐานะปานกลางครับ การที่ผมเลือกเรียนแพทย์ในช่วงระยะเวลาที่เป็นเด็กนั้น ได้รับการโน้มน้าวจากผู้ใหญ่ เพราะผมเป็นคนเรียนหนังสือดีตั้งแต่ยังเล็ก ในทัศนคติของคนที่เป็นผู้ใหญ่ในขณะนั้น ทั้งคุณพ่อคุณแม่ ทั้งคนที่อยู่รอบตัวเขามีความรู้สึกว่า คนเรียนเก่งน่าจะไปเรียนแพทย์’ ฉะนั้น มันเกิดขึ้นในลักษณะทัศนคติของผู้ใหญ่ที่เขามองเห็นว่าคนที่เป็นหมอส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในรอบตัวเขาเป็นคนที่ต้องเรียนเก่ง เพราะ 1.เป็นวิชาที่ยาก 2.ต้องเรียนหนัก เขามีความรู้สึกว่าในฐานะที่เรามีศักยภาพพอที่จะเรียน ก็น่าจะไปเรียนวิชาซึ่งเขามองว่าเป็นวิชาที่ยากและต้องการคนเรียนเก่ง นั่นคือในทัศนคติของผู้ใหญ่ในสมัยนั้นนะครับ


"ขณะเดียวกัน ประเด็นที่เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกันก็คือว่า การเรียนแพทย์มี 2 ปัจจัยหลักที่เขามักจะพูดถึงก็คือ จบแล้วสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องไปอยู่ในลักษณะของสังกัด ฉะนั้น การเรียนแพทย์มีลักษณะของความเป็นอิสระค่อนข้างสูง สามารถจะทำงานให้เกิดประโยชน์กับสังคมได้มาก รวมทั้งมีลักษณะของสถานะทางสังคมในเวลาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เขามองว่าเป็นที่เคารพนับถือของคนส่วนใหญ่ เขาก็อยากให้ลูกหลานเข้าไปเรียนแพทย์เพื่อจะได้ภาพนั้นเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว


"นอกเหนือจากความมีเกียรติแล้ว เป็นภาพลักษณ์ที่ทางผู้ใหญ่อยากให้เราไปในเส้นทางที่น้อยคนจะมีโอกาส เพราะว่ามันมีอัตราการแข่งขันสูง พอเรียนจบก็ไม่ต้องเป็นภาระที่จะต้องฝากฝังในการทำงาน เพราะว่าเป็นอาชีพที่อิสระได้ ขณะเดียวกันก็ทำประโยชน์ได้มาก แล้วก็ทำชื่อเสียงให้กับวงศ์ตระกูล

ครอบครัวผมปล่อยให้เราดำเนินชีวิตตามปกติครับ คือเรียนไปตามศักยภาพของเรา ไม่ได้มีแรงกดดันอะไรมากมาย"

จากข่าวที่เคยปรากฏ นักเรียนแพทย์มีความกดดันและเครียดถึงขนาดคิดสั้น ท่านมองเรื่องนี้ยังไง ?

"ผมคิดว่าทุกๆ เรื่องจะมีประเด็นปัญหานะครับ อยู่ที่ว่าเรามีความมุ่งมั่นมากน้อยแค่ไหน แล้วปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตมันเป็นเรื่องที่เราสามารถค่อยๆ แก้ไขไปได้ อย่าเพิ่งไปท้อแท้อะไร เพราะว่าเราทุกคนล้วนมีปัญหา จะมากหรือน้อยแตกต่างกันไป แต่ประเด็นก็คือว่า ‘ไม่มีชีวิตใดราบรื่นทุกเรื่อง’ ไม่มีทาง เพียงแต่ว่าเราค่อยๆ แก้ไขปัญหาไปตามเหตุการณ์ มันมีทางออก ถ้าหากว่าเราไม่รู้ว่าจะแก้ไขยังไง หรือว่าไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร ก็ใช้วิธีการปรึกษาหารือ เสาะถามผู้ที่เขารู้หรือคนแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือเป็นผู้ใหญ่


"การดำเนินชีวิตของคนมักมีอะไรที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นก่อนมาแล้ว ฉะนั้น ในกรณีนี้มันมีวิธีการทางลัดที่เราสามารถจะหาคำตอบได้โดยผู้รู้ ฉะนั้น เป็นคนเปิดใจกว้างในการรับรู้ข้อมูลจากผู้อื่น เป็นเรื่องสำคัญมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตเราบางทีอาจจะเป็นครั้งแรกในชีวิตแต่มันไม่ได้เป็นครั้งแรกในโลกใบนี้ ยังมีคนอื่นที่เขามีปัญหาแบบเดียวกัน ฉะนั้น อย่าไปคิดว่าไม่มีคำตอบให้เรา มันไม่ใช่ เพียงแต่ว่าเราเปิดใจฟังคนอื่นเขาบ้างว่าเขาแก้ไขปัญหาอย่างไร ขณะเดียวกันทุกเรื่องคำตอบมันมีอยู่ เพียงแต่ว่าเราเล็งผลมากเกินไปรึเปล่า? ถ้าหากเราเล็งผลมากเกินไปมันก็จะเกิดความรู้สึกว่ามันไม่ได้ผลอย่างที่เราคาดหวัง ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นลบ ซึ่งจริงๆ แล้วของทุกอย่างถึงเวลามันมาแล้วมันก็ไป มันไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา มันมีทั้งโชคดีและโชคร้ายตลอดชีวิตเสมอ มันมาแล้วไป ของดีมาแล้วก็ไป เช่นเดียวกัน ของไม่ดีมาแล้วก็ไปเหมือนกัน ฉะนั้น ชีวิตเราจำเป็นต้องอยู่กับสิ่งที่มาแล้วไปให้ได้ ตรงนี้ต้องเรียนรู้ครับ


"ในขณะเดียวกันถ้าเราเรียนรู้ในลักษณะที่ว่าอะไรที่มันเป็นผลลบ อะไรที่มันทำให้เรารู้สึกยากจังเลย ก็เรียนรู้แก้ไขไป ฉะนั้น ในกรณีที่เราได้มีโอกาสเข้ามาเรียนแล้ว อย่างน้อยเราก็เป็นคนที่ผ่านการแข่งขันมาจนผ่านเกณฑ์ที่จะเข้ามาเรียนได้ ถามว่าคนอื่นเขาเรียนได้เราก็ต้องเรียนได้ เขาไม่ได้เป็นผู้วิเศษ เราก็คือคนธรรมดา เขาก็คือคนธรรมดา เขาเรียนได้เราก็ต้องเรียนได้ เพียงแต่ว่าถ้าเราเกิดปัญหาขึ้นมาตรงไหนก็ไปดูว่าเหตุมันเกิดจากอะไร แล้วแก้ไข ยกตัวอย่าง ถ้าใช้เวลาไม่เหมาะ ดูหนังสือไม่ถูก หรือว่าเข้าใจไม่ถูกต้องก็แก้ไขด้วยการใช้เวลาให้เหมาะสม ทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยการถามครูหรือถามผู้รู้แล้วก็อ่านหนังสือให้มากขึ้น ถ้าหากเรามีเวลาน้อย เรามีกิจกรรมอย่างอื่นก็ลดทอนกิจกรรมที่มันไม่มีความสำคัญลง แล้วก็ให้ความสำคัญกับสิ่งที่จำเป็นมากขึ้น เป็นการจัดสรรเวลาอย่างเหมาะสมตามเหตุการณ์ที่ควรจะเป็น


"ส่วนเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตนั้นผมคิดว่าเราไม่จำเป็นจะต้องเรียนหนังสืออย่างเดียว ชีวิตคนเราความสำเร็จในชีวิตไม่ใช่อยู่ที่รู้เรื่องแก่นวิชาการอย่างเดียว ต้องมีลักษณะของชีวิตความเป็นอยู่ การรู้จักอยู่ในสังคม การทำงานเป็นทีม การแบ่งปันผู้อื่น การรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม การที่จะเป็นผู้นำ มันมีปัจจัยต่างๆ ที่เราจำเป็นที่จะต้องมีทักษะเหล่านั้นติดตัวเรามา นี่เป็นแนวคิดที่ผมปฏิบัติมาโดยตลอด"

อาชีพแพทย์จะต้องพบเจอผู้คนซึ่งแตกต่างกันไป การควบคุมอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญ ?

"เรื่องการควบคุมอารมณ์เป็นเรื่องที่ต้องการการฝึกฝนเหมือนกันนะครับ ทุกคนล้วนมีอารมณ์ทั้งที่เป็นบวกและลบ ในกรณีที่ถ้าหากว่าคนส่วนใหญ่ที่มาหาหรือต้องการความช่วยเหลือจากเรา ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนไข้ที่มีประเด็นปัญหาที่เป็นลบเยอะนะครับ ต้องการความช่วยเหลือจากเรา ตรงนี้เราคงต้องมีความหนักแน่นในการรับฟังเหตุปัจจัยที่เขามีความรู้สึกเป็นทุกข์ต่างๆ ฉะนั้น การที่เรารับฟังข้อมูลจากผู้อื่นก็เป็นเรื่องสำคัญในการดูว่าเขาเกิดอะไรขึ้นที่เราจะช่วยเหลือได้ ปัญหาอะไรต่างๆ ที่เป็นทุกข์จากตัวคนไข้หรือว่าญาติพี่น้องที่เขามาขอความช่วยเหลือเรา


"ฉะนั้น ตรงนี้ถ้าหากว่าเราจะมีแต่เรื่องเฮฮาสนุกก็คงไม่ใช่ลักษณะของคนไข้มาหาเราหรอก น่าจะเป็นลักษณะของสันทนาการ หรือนันทนาการในช่วงเวลาที่เรามีกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากการดูแลผู้ป่วย แต่ก็มีบางช่วงเวลาที่ญาติพี่น้องเขามีความรู้สึกดีใจที่ได้รับการดูแลรักษาและคนไข้ได้ผลดี ก็เป็นสิ่งที่เรามีความรู้สึกดีใจกับสิ่งที่เป็นผลตอบสนองให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ได้ผล อันนั้นก็เป็นความสุขของคนที่เป็นแพทย์ดูแลผู้ป่วย


"สิ่งเหล่านี้จะวนเวียนเข้ามาวันแล้ววันเล่า มีทั้งคนที่เป็นทุกข์จากการที่เขาเป็นโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งบางทีรักษาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เราก็จะเจอคนที่เขาดีใจที่รักษาแล้วเขาดี กลับไปทำอะไรต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ แล้วก็ดีใจกับการได้รับการรักษาที่ได้ผล เราก็ดีใจกับเขาไปด้วย อย่างน้อยเราก็มีส่วนทำให้เขาได้หวนคืนกลับไปสู่สภาพที่เขามีความปรารถนา อันนั้นเป็นความรู้สึกที่ทำให้เราอยู่กับอาชีพนี้ได้ ไม่ใช่ว่ามีแต่คนไข้ที่เป็นทุกข์ตลอดเวลา ของพวกนี้เป็นอะไรที่ถ้าคนไม่ได้มีอาชีพนี้ก็อาจจะพูดแล้วไม่สามารถสัมผัสได้ลึกซึ้งเหมือนกับคนที่เป็นแพทย์

ทำไมท่านถึงเลือกที่จะเป็นอาจารย์แพทย์ ทั้งที่สามารถไปทำอย่างอื่นซึ่งได้เงินมากกว่า ?

"การเลือกเป็นอาจารย์แพทย์ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของช่วงเวลาและโอกาส บางอย่างเรากำหนดชีวิตเราไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับ เพียงแต่ว่าตอนที่ผมรับทุนมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ทราบอยู่แล้วว่าต้องไปเป็นอาจารย์ ฉะนั้น เป้าหมายของชีวิตเราคือต้องไปเป็นอาจารย์เพราะเรารับทุนเขามา เราต้องไปเป็นอาจารย์ที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งนั่นหมายความว่า เราถูกกำหนดไว้แล้วว่าเราต้องไปเป็นอาจารย์


"การที่เราถูกกำหนดไว้ โดยส่วนตัวไม่ได้มีความแข็งขืนกับชะตาชีวิตว่าทำไมฉันจะต้องมาเป็นแบบนี้ ฉะนั้น ใจเราค่อนข้างที่จะเป็นอิสระหรือค่อนข้างที่จะปล่อยวาง เพียงแต่ว่าในความคิดของตัวเราเองไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนไหนตั้งแต่เล็กจนโต ก็คือว่า ถ้าเราดำเนินชีวิตแล้วเรามีบทบาทหน้าที่เราก็ทำหน้าที่อันนั้นให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ให้สมกับที่เขามอบหมายให้เรา หรือว่าชะตาชีวิตมันถูกกำหนดแบบนั้น ก็คือว่าเราจำเป็นที่จะต้องเป็นแพทย์ เราก็ตั้งใจที่จะเป็นแพทย์ที่ดี เท่าที่จะสามารถทำได้ ถ้าเราเป็นอาจารย์เราก็ควรจะทำหน้าที่เป็นอาจารย์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"

การเป็นแพทย์ของท่านคือการระเบิดจากข้างในซึ่งอยากจะเป็นอย่างแท้จริง ?

"มีความรู้สึกแบบนั้นอยู่ครับ เพราะเรามีความรู้สึกว่าถ้าเทียบกันแล้วเราได้เปรียบในการที่เราเป็นหมอ ซึ่งมีโอกาสที่จะทำโน้นทำนี่ ในเมื่อเราได้เปรียบในลักษณะที่เราเป็นหมอซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ได้ เราก็ทำให้สมกับที่เราได้มีโอกาสรับผิดชอบ ถ้าเราได้เป็นอาจารย์เราก็ทำหน้าที่ให้สมกับที่เราได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ครูแพทย์ เราก็ทำแบบนั้น แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นแบบนี้ ผมคิดว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจากในใจเพียงอย่างเดียว ผมคิดว่ามันเกิดจากการปลูกฝังด้วยนะ ผมเข้าใจว่ามันเป็นการปลูกฝังจากสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นต้นแบบที่ดี หรือว่าลักษณะของอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เราเคยเป็นนักเรียนแล้วเราเห็นถึงความคิดท่าน เช่น อาจารย์วีกิจ วีรานุวัตติ์ ท่านเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตอนที่ผมเป็นนักเรียนแพทย์ ท่านเก่งทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นกีฬาท่านก็เก่ง ท่านก็เป็นอาจารย์ ท่านสอบได้ที่ 1 ของประเทศไทย ท่านพูดได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรอบตัวหรือเรื่องวิชาการ ท่านสามารถพูดกับเราได้ทุกเรื่อง


"นอกจากนี้ยังมีอาจารย์อีกหลายท่านที่สอนอยู่ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ทางด้านกายวิภาค อาจารย์ทางด้านพรีคลินิก หลายๆ ท่าน มีตัวอย่างให้เห็นอยู่โดยรอบ ตั้งแต่ตอนที่เราเป็นนักเรียนชั้นปีต้นๆ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เราจะเห็นอาจารย์ผู้ใหญ่ซึ่งเป็นอาจารย์ที่เรารู้สึกว่านี่คืออาจารย์ผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ ซึ่งทำให้เราได้ถูกฟูมฟักในสิ่งแวดล้อมที่เราเติบใหญ่ขึ้นมา

พอขึ้นมาชั้นคลินิกเราก็เห็นตัวอย่างอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ท่านดูแลผู้ป่วยอย่างดี การประพฤติปฏิบัติต่างๆ เราก็มีความรู้สึกว่านี่คืออาชีพแพทย์ที่เรามีความรู้สึกว่าเราจะต้องเป็นแบบนี้ในอนาคต ก็เลยทำให้รู้สึกว่าอยากเป็นแพทย์


"ผมคิดว่าต้นแบบเป็นเรื่องสำคัญแล้วก็สิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวยให้เราได้ไปสัมผัส แล้วก็เห็นกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่ท่านทำอยู่ ก็ซึมซับเข้าไปโดยไม่รู้ตัว"

เป็นแพทย์ก็ดี เป็นอาจารย์แพทย์ก็ดี ท่านจัดการกับความเหนื่อยล้ายังไง ?

"ในชีวิตคนเรามันไม่ใช่ว่าเหนื่อยหรือไม่เหนื่อย มันอยู่ที่เราคิดด้วยนะ ผมคิดว่าถ้าเราเกิดมีความรู้สึกว่าเราเบื่อหน่ายหรืออะไรต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ เราก็เหนื่อยแล้วล่ะ แต่ถ้าเราไม่มีความรู้สึกเบื่อหน่ายเรารู้สึกว่านี่คือเรื่องปกติ เราก็จะมีความรู้สึกถึงภูมิต้านทานต่อความยากลำบากตัวนั้น ซึ่งไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่"


ฝากถึงเยาวชน ?

"ชีวิตในอนาคตมีการแข่งขันสูง มีงานอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ ในขณะที่งานบางอย่างอาจจะหายไป ฉะนั้น การเตรียมตัวสำหรับการอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ต้องการความยืดหยุ่น ต้องการความมุ่งมั่นในการทำสิ่งต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรเวลา ซึ่งตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงผมคิดว่าเราทำให้ดีภายใต้เงื่อนไขว่าเรามีทรัพยากรจำกัด แล้วก็ความที่มีกิเลสหรือว่าความละโมบนั้นพยายามลดทอนลง เพราะว่าสิ่งที่เราเป็นทุกข์ก็คือการที่เราไม่ได้ในสิ่งที่อยากได้ นั่นคือกิเลส ถ้าเราลดทอนลงความรู้สึกเหล่านั้นจะน้อยลง

"ถ้าหากเราพร้อมที่จะเป็นอะไรก็ได้ เราพร้อมที่จะทำให้เป็นประโยชน์มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แล้วเราพร้อมที่จะได้รับอะไรต่างๆ ที่เป็นผลตอบแทนไม่มากเกินสมควร ผมคิดว่าเป็นทุกข์น้อยมากเลย แล้วก็การดำเนินชีวิต ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับทุกคนนั้นมันจะสร้างปัญญาให้กับเขา อย่าไปท้อแท้ ความยากจะทำให้เราเข้มแข็ง ถ้าหากว่าเราไม่กลัวกับความยาก ไม่กลัวกับปัญหา เราก็จะมีปัญญาแล้วก็จะมีความเข้มแข็ง แล้วก็อยู่ได้ในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะอยู่วันนี้ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ หรือที่ไหนก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นกับทุกคน โลกมันเปลี่ยนแปลงมันหมุนตลอด


"ฉะนั้น เราอยู่กับความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ไม่ว่าวันนี้ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ เราอยู่ได้ ด้วยหลักคิดก็คือว่า ใช้ศักยภาพเราให้เต็มกำลัง ไม่ท้อแท้กับสิ่งที่เป็นปัญหา ก็พยายามใส่ใจในการเรียนรู้เพิ่มเติม แล้วก็ฝึกทักษะต่างๆ ที่เราจะต้องใช้เป็นอาวุธในการเดินหน้าต่อไป" ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ กล่าวทิ้งท้าย

ดู 385 ครั้ง0 ความคิดเห็น
เพลง ครอบครัวพอเพียง
00:00 / 02:09
bottom of page