top of page

ข้อควรรู้ก่อนเรียนแพทย์ : รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์

เยาวชนหลายคนมีความใฝ่ฝันอยากจะเรียนแพทย์ แต่หลายคนยังไม่ทราบว่าเมื่อสอบติดแพทย์แล้ว ขั้นตอนต่อไปที่ต้องผ่านไปให้ได้ก่อนจะได้ชื่อว่า นิสิต หรือ นักศึกษาแพทย์ มีอะไรบ้าง รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำแนะนำเอาไว้อย่างน่าสนใจ สำหรับผู้ที่คิดจะเรียนแพทย์ต้อง “มีความพร้อม” อะไรบ้าง ไปดูกันเลย

1. ต้องเรียนดี

"คนที่จะมาเรียนแพทย์ต้องเป็นคนที่เรียนดีก่อนครับ หมายถึงคนที่เรียนไม่ดีแล้วอยากจะมาเรียนแพทย์ก็อาจจะมีความลำบากหน่อย เพราะวิชาที่เรียนค่อนข้างหนัก ต้องอาศัยทั้งความจำความเข้าใจ นอกจากนั้นต้องมีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษสูง เพราะตำราส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ นั่นหมายความว่าคนที่เรียนไม่ดีแต่อยากจะเป็นแพทย์ อาจจะต้องทางเลือกอย่างอื่น เช่น 1.พยาบาล 2.เทคนิคการแพทย์ 3.นักกายภายบำบัด 4.วิทยาศาสตร์การแพทย์ 5.นักรังษีวิทยา 6.ทันตแพทย์ 7.สัตวแพทย์ เหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าด้อยกว่านะครับ แต่วิชาที่เรียนใช้ภาษาอังกฤษน้อยกว่าแพทย์เท่านั้นเอง"


2. ต้องมีจิตใจที่ดี

"คนที่มีจิตใจไม่ดีแล้วอยากจะเรียนแพทย์ ก็เป็นอันตรายนะครับ เช่น อยากจะรวย อยากจะพาณิชย์ อยากจะเสริมความงาม ถ้าแสดงออกว่าผมอยากรวยเวลาสัมภาษณ์เขาก็ไม่ให้เข้าครับ เวลาสัมภาษณ์จะไปบอกตรงใจตัวเองมากก็ไม่ได้ หมายถึงว่า เวลาสัมภาษณ์แล้วบอกว่าผมรวยแล้ว อยากจะเรียนแพทย์ ผมจะมาหากิน ผมไม่ได้สนใจจะมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ อย่างนี้ ก็อย่ามาเป็นแพทย์เลยครับ ก็ขอร้อง ฉะนั้น ต้องมีจิตใจที่อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ จิตใจที่มีความโอบอ้อมอารี จิตใจที่มองมนุษยษ์เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อย่างนี้ถึงจะมาเป็นแพทย์ได้ครับ"


3. รู้จักกตัญญู

"การเรียนแพทย์เป็นการถ่ายทอดความรู้ระหว่างครูกับลูกศิษย์ ฉะนั้นลูกศิษย์ต้องเคารพครู เมื่อเคารพครูแล้ว เรียนรู้จากครูแล้ว พอถึงเวลาก็ต้องกตเวทิตาต่อครู ฉะนั้น เครื่องหมายของคนดีคือกตัญญู การจะเรียนแพทย์ได้ต้องเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ไม่ใช่ผู้ประกอบโรควิทยาศาสตร์ ศิลปะคือการถ่ายทอดจากครูสู่ลูกศิษย์ แต่การถ่ายทอดต้องถ่ายทอดด้วยความรู้และจิตวิญญาณ ฉะนั้นก็ต้องเป็นคนดี"


4. สุขภาพกายดี

"คนที่จะมาเป็นแพทย์ได้ ถ้าเป็นคนที่มีสุขภาพอ่อนแอ มันจะไปไม่รอดครับ หรือตัวเองมีโรครุมเร้าอยู่มากเลย 3 วันดี 4 วันไข้ เป็นโรคเรื้อรังซึ่งไม่สามารถทุ่มเทกำลังกายในการเรียนแพทย์ได้มันก็เหนื่อย ต้องเป็นคนที่มีสุขภาพดี เวลาที่ต้องไปดูคนไข้ บางครั้งเป็นหมอผ่าตัดจะต้องนอนดึก นอนน้อย ฉะนั้นถ้าไม่มีพื้นฐานสุขภาพที่ดีก่อน มันก็จะลำบากครับ"


5. สุขภาพใจดี

"มีจิตใจที่เข้มแข็งและแข็งแรง หมายถึงว่า เมื่อมีสุขภาพใจที่แข็งแรง ก็จะมีความมุมานะบากบั่นทะยานไปได้ต่อไป เป็นเรื่องสำคัญนะครับ ถ้าเราเป็นคนที่มีสุขภาพกายดี แต่สุขภาพใจไม่ดี มาเรียนแพทย์ก็จะเครียด มีนิสิตที่มาเรียนแล้วเครียดมาก มีภาวะความเครียดสูงเยอะแยะเลยครับ ก็อาจจะไปไม่รอด ฉะนั้น สุขภาพกายก็ดี สุขภาพใจก็ดี ต้องถือว่ามีสุขภาพดีไว้ก่อนครับ"


6. ความพร้อมทางเศรษฐานะ

"ปัจจุบันนี้เราพยายามให้ทุนคนที่มาเรียน พยายามซัพพอร์ททุกทางนะครับ แต่ว่าอย่างไรก็ตามเถอะ ถ้าเป็นคนที่มีเศรษฐานะที่ลำบากจริงๆ ก็ต้องมีความเก่ง ต้องมีคนอุปถัมภ์ ไม่ว่าพ่อแม่อุปถัมภ์หรือใครก็ตาม ฉะนั้น การที่จะมีคนอุปถัมภ์ได้ก็ต้องเป็นคนดี คงไม่มีใครอยากจะอุปถัมภ์คนที่ไม่ดีจริงไหมครับ ต้องมีสิ่งเหล่านี้ก่อน ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้การที่จะมาเรียนแพทย์จะลำบากครับ"


7. ตัดสินใจเรียนให้แน่นอน

"ส่วนใหญ่แล้วเด็กที่มาเรียนแพทย์ มักจะเก่ง ครอบครัวมีฐานะ ปัญหาหลักก็คือว่า เครียด เพราะจริงๆ แล้วไม่อยากมาเรียนหมอ แต่พ่อแม่ครอบครัวอยากให้มาเรียนหมอ ก็ทำให้เกิดปัญหา ดังนั้น ก่อนที่จะมาเรียนแพทย์อีกสิ่งหนึ่งก็คือ ต้องตัดสินใจว่าจะเรียนแพทย์ให้แน่นอน ถ้าคิดว่าตัวเองไม่อยากเป็นแพทย์ในชีวิตนี้ การที่จะมานั่งดูคนไข้เป็นคนๆ ไป หรือว่า รู้สึกไม่อยากจะคุยกับมนุษย์ แล้วก็ต้องมาคุยกับมนุษย์ ต้องมาดูแลมนุษย์ด้วย ถ้าไม่มีจิตใจที่โอบอ้อมอารีอยากจะดูแลมนุษย์ อย่ามาเป็นแพทย์เลยครับ เพราะว่าจะเครียดมากเลย เรามีเด็กที่เครียดแล้วหยุดการศึกษาไปหลายคน เนื่องจากว่าตัวเองไม่ต้องการเป็นแพทย์เลย แต่พ่อแม่บังคับ หรือ เรียนตามความอยากของผู้ปกครอง ต้องคุยกับคุณพ่อคุณแม่ให้ดีว่าตัวเองมีความประสงค์จะเรียนแพทย์จริงๆ รึเปล่า อันนี้คือปัจจัยสำคัญมากๆ ก่อนจะคิดมาเรียนแพทย์ครับ"


8. ผ่านการทดสอบทางจิตวิทยา

"เมื่อสอบข้อเขียนแล้ว คะแนนถึง ก็จะเชิญมาทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา เพื่อดูว่า 1. สติไม่สมประกอบหรือไม่ 2. มีความคิดแปลกๆ หรือไม่ ถ้าเราพบว่าในข้อสอบจิตวิทยาเด็กคนนี้คิดแปลก หรือมีปัญหาทางจิตรึเปล่า ในการทดสอบทางจิตวิทยาก็จะสามารถคัดกรองได้ ว่าเด็กคนนี้มีความผิดปกติทางจิตรึเปล่า ถ้ามีเราอาจจะพิจารณาไม่รับครับ


"นอกจากทำแบบทดสอบแล้ว เรายังตรวจอื่นๆ อีก เช่น สายตา สุขภาพทั่วไป มีโรคติดต่อร้ายแรงอะไรไหม ก็อาจจะเอ็กซเรย์ปอดดูวัณโรค ตรวจร่างกายทั่วไป"


9. การสัมภาษณ์

"เพื่อดูว่าเด็กคนนี้มีความคิดแปลกๆ อะไรรึเปล่า ต้องผ่านหลายขั้นตอนนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ การตรวจร่างกาย การทำจิตวิทยาทำแบบสอบถามต่างๆ ว่าเด็กคนนี้มีปัญหาไหม ถ้าไม่มีปัญหาก็ผ่านครับ

ความคิดแปลกๆ หมายความว่า ผมเคยสัมภาษณ์เด็ก เขาบอกว่า อาจารย์ผมไม่สนใจครับ ผมอยากรวยอย่างเดียว ผมไม่สนใจอยากดูแลใคร เพราะผมตั้งใจว่าผมจะรวย ผมจะมีเงินหลายสิบล้าน แล้วผมจะไปเที่ยวต่างประเทศให้ฉ่ำใจผมเลย มีคนพูดกับผมอย่างนี้ ผมให้ตกนะ ผมบอกคุณยืนยันนะสิ่งที่พูด เขาบอกครับ ผมไม่ได้คิดอยากจะมาดูแลใครผมอยากรวย แสดงว่าเขาไม่อยากเรียนแพทย์อยู่แล้ว เขาตั้งใจสัมภาษณ์ให้ตก คะแนนเขาเรียนดี แต่พ่อแม่บังคับ


"บางทีในดรออิ้งแบบสัมภาษณ์ มีความคิดแปลก หมายถึงวาดภาพผู้หญิงเป็นสัญลักษณ์ที่ทะลึ่ง มีแนวโน้มทางจิตที่ผิดปกติ แต่เรายังไม่ตัดสินใจให้ตกนะ เราต้องส่งไปตรวจสอบทางจิตแพทย์อีกครั้งหนึ่งว่าเขามีความคิดอะไรผิดปกติรึเปล่า เพราะสังคมคงไม่มีใครอยากให้คนมีความคิดผิดปกติเข้ามาเป็นหมอใช่ไหม ฉะนั้นถึงแม้คะแนนสอบผ่านเราก็ต้องคัดกรองครับ"


10. ต้องมีคนค้ำประกัน

"เนื่องจากการเรียนแพทย์ปัจจุบันยังมีการใช้ทุนอยู่ เช่น สมัยผมเรียน 4 แสนบาท เดี๋ยวนี้อาจจะ 6-7 แสนบาท ต้องมีคนค้ำประกันครับ เพราะปัจจุบันนี้การเรียนแพทย์ รัฐต้องจ่ายเงินไปจ้างอาจารย์ทั้งสิ้น รวมทั้งจ่ายค่าอุปกรณ์การเรียนต่างๆ สมมุติว่าเรียนแพทย์เราใช้เงินของรัฐปีละ 1 ล้านบาท วิศวะใช้เงินปีละประมาณ 8 แสนบาท ทันตแพทย์ใช้เงินปีละ 9 แสนบาท


"ซึ่งรัฐยังมีความต้องการแพทย์อยู่ แต่วิศวะรัฐไม่มีความต้องการที่จะให้ไปทำงานราชการแล้ว จบแล้วเป็นอิสระ เพราะวิศวะก็ใช้เงินเยอะเหมือนกัน แต่แพทย์ใช้เงินมากกว่านิดหน่อย แต่ว่าคุณจบแล้วคุณต้องเป็นหนี้นะ คุณต้องเป็นหนี้รัฐอย่างน้อย 6 แสนบาท คุณก็ต้องเอาคนมาค้ำประกัน ถ้าคุณไม่มี คุณก็ต้องไปหาญาติ หาครูใหญ่ หากำนัน หาใครที่มีเศรษฐานะ มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เขาเรียกค้ำประกันสัญญา แต่ว่าถ้าไม่มีจริงๆ เป็นเด็กกำพร้าอยู่วัดอยู่กับหลวงพ่อ ทางคณะก็ต้องหาคนที่มีพระคุณกับเขา ที่จะรับรองได้ว่า เมื่อจบแล้วเขาจะไม่หนีไปไหน ถ้าไม่มีการชดใช้ทุนตามสัญญาก็ต้องมีคนชดใช้แทน"


11. อย่ากังวลเรื่องค่าเทอมมากนัก

"ตามประกาศ เทอมหนึ่งประมาณ 3 หมื่นบาทครับ ปีละ 2 เทอม ปัจจุบันทางจุฬาฯ มีทุนสำหรับคนที่ไม่มีค่าเทอม อย่างน้อยที่สุดให้ทุนประมาณ 10% ในเด็ก 300 คน จุฬาฯ เตรียมทุนไว้ให้แล้ว 30 ทุน ขอให้มาสมัครเถอะ ขอให้มาสัมภาษณ์เถอะ เพราะยังมีคนที่อยากจะอุปการะนิสิตแพทย์อีกเยอะเลยครับ

ขอให้ขอทุนเถอะ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนแพทย์จุฬาฯ จะไม่ค่อยขอทุนครับ เพราะฐานะดีอยู่แล้ว ฉะนั้นไม่ต้องกังวลใจว่าค่าทุนจะแพง เพราะว่าค่าเล่าเรียนมันเท่ากัน คุณเรียนบัญชีก็ 3 หมื่นบาท แพทย์ วิศวะ ก็ 3 หมื่น เหมือนกันครับ"


12. จรรยาบรรณของแพทย์ที่ควรทราบ

"จริงๆ มีหลายข้อเลยครับ แต่ข้อที่สำคัญเลยคือ ตามที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงมีพระราชปณิธานไว้ว่า ข้อให้ถือประโยชน์ของมนุษย์เป็นกิจที่ 1 แล้วประโยชน์และทรัพย์ต่างๆ จะตกแก่ท่านเองในภายหลัง นี่คือสิ่งที่สรุปจรรยาบรรณของแพทย์ไว้ทั้งหมดครับ

อย่าลืมนะครับ คิดและตัดสินใจให้ดี สำรวจความพร้อมของตัวเองก่อนจะมาเรียนแพทย์ เพราะการเป็นแพทย์ต้องเป็นไปตลอดชีวิตนะครับ ขอให้ทุกคนโชคดีกับสิ่งที่ตนตั้งใจจะเรียนจริงๆ"


จาก รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์ รองคณบดี ฝ่ายกิจการนิสิต คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดู 4,502 ครั้ง0 ความคิดเห็น
เพลง ครอบครัวพอเพียง
00:00 / 02:09
bottom of page