จะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม “หายใจเข้าไว้” : มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคาร ธพว.
อัปเดตเมื่อ 25 มิ.ย. 2562
"ชีวิตผมผ่านมาถึงวันนี้ได้ เกิดจากความพอดี พอเพียง และครอบครัว"

“มงคล” ชื่อที่ตั้งขึ้นจากการเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์
ภูเก็ตเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว แทบจะเป็นคนละประเทศกับกรุงเทพมหานคร ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ไร่สวนร่มครึ้ม การเดินทางและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างตู้เย็นระบบน้ำมันก๊าดหรือเครื่องทำไอศกรีมเป็นเรื่องแปลกใหม่ ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาให้ใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายเหมือนทุกวันนี้ ผู้คนเลือกที่จะไปเรียนหนังสือต่อทางฝั่งมาเลเซีย ในปีนัง ไต้หวัน ไปจนถึงฟิลิปปินส์มากกว่าจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ

ภาพบรรยากาศเหล่านั้นเป็นสิ่งที่นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) จำได้ดี เขาเกิดและเติบโตในครอบครัวค้าขายและขยันทำมาหากินตามแบบฉบับคนไทยเชื้อสายจีน โดยตนเองเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 3 คน ชื่อ “มงคล” นั้นเนื่องมาจาก เมื่อวันพุธที่ 11 มีนาคม 2502 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ไปทรงเยี่ยมราษฎรตำบลป่าตอง อําเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต และทอดพระเนตรน้ำตกวังขี้อ้อน ในตอนบ่ายเสด็จฯ ณ วัดมงคลนิมิตร ทอดพระเนตรพระพุทธรูปทองคำโบราณศิลปะสุโขทัย และเสด็จฯ วัดพระทอง พร้อมทั้งพระราชทานลายพระหัตถ์โดยย่อว่า ภ.ป.ร. ประดิษฐานเหนือประตูทางเข้าพระวิหารหลวงพ่อพระทอง และเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ณ ตำบลป่าคลอก ชมป่าชายเลนที่หาดท่าหลา
“ชื่อมงคล ก็เพราะว่าตอนที่ผมเกิดที่โรงพยาบาลมิชชั่นภูเก็ต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านเสด็จไปที่วัดมงคลนิมิตร บังเอิญอยู่หน้าโรงพยาบาลด้วย คุณแม่ก็เลยตั้งชื่อผมเพื่อเป็นสิริมงคล ก็เลยให้ชื่อมงคล เป็นเรื่องที่แม่เล่าตลอดมาว่าวันที่ผมเกิดเป็นวันดี อยากให้ลูกเป็นคนดี”


(โรงพยาบาลมิชชั่นภูเก็ต ปี 2483)
นายมงคล เริ่มเรียนที่โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรกในจังหวัดภูเก็ต โดยบรรพบุรุษชาวจีนฮกเกี้ยนรุ่นแรกที่อพยพเข้ามาอยู่ที่ภูเก็ตได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2477 ตั้งอยู่ริมถนนกระบี่ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต ภายใต้อาคารที่สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสสีขาวที่ถูกบูรณะปรับปรุงให้มีสภาพสมบูรณ์สวยงาม จนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวในปัจจุบัน

“สมัยนั้นมีความสุขมากเพราะว่าโรงเรียนนี้เขาสอนทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องการคิด การอ่าน การเขียน เด็กทุกคนต้องเขียนบทความอย่างน้อยวันละ 1 ฉบับเป็นภาษาจีน และต้องอ่านหนังสือที่หน้าชั้นอย่างน้อยวันละ 1-2 แผ่นกระดาษ เด็กทุกคนที่นี่เล่นกีฬาเป็น เล่นดนตรีเป็น และอุทิศตัวเพื่องานจิตอาสา เพราะว่าโรงเรียนจีนเกิดจากมูลนิธิของพ่อค้าในภูเก็ต ทุกคนต้องมีส่วนช่วยงานของสังคมเหมือนกับมูลนิธิต่างๆ ด้วย ฉะนั้นวัยเด็กผมจึงได้พื้นฐานค่อนข้างดี ต้องขอบคุณพ่อแม่ เพราะโรงเรียนที่นั่นแพงมากนะ เดือนหนึ่งถ้าจำไม่ผิดประมาณ 52 บาท”
คนเรียนหนังสือสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ก็จะเป็นขยะสังคม
“พ่อผมเป็นคนอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง แม่เป็นคนตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ผมจึงได้รับอิทธิพลจากอันดามันมาครบเลย” แม้ครอบครัวจะมีอาชีพค้าขาย แต่พี่น้องทุกคนของนายมงคลได้รับการสนับสนุนด้านการคิดการอ่านเป็นอย่างดี สังเกตได้จากนิตยสารต่างๆ ที่แม่สมัครสมาชิกไว้ เช่น การ์ตูนชัยพฤกษ์ นิตยสารขวัญเรือน นิตยสารสกุลไทย แต่โดยส่วนตัวนายมงคลชอบอ่านนิยายกำลังภายใน ทำให้นายมงคลมีพื้นฐานความรู้จากการอ่านที่หลากหลายมาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งขึ้นชั้นมัธยม ขณะที่เพื่อนต่างแยกย้ายไปเรียนในแถบมาเลเซียเป็นส่วนใหญ่ เพราะถ้าเทียบระยะทางกับกรุงเทพฯ แล้ว การไปเรียนที่ปีนังจะใกล้และสะดวกกว่ามาก แต่สำหรับครอบครัวนายมงคลกลับส่งลูกทั้ง 3 คนไปเรียนที่กรุงเทพฯ ชีวิตของนายมงคลจึงนับว่าแตกต่างจากเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เติบโตด้วยกันมา สำหรับนายมงคลกลับมองว่า นี่คือพรหมลิขิต
“ผมมาเรียนในกรุงเทพฯ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย รุ่น 21 ตอนมาเรียนสามเสนก็ไม่รู้ว่าเป็นโรงเรียนดังนะ เพราะอยู่ใกล้บ้านในซอยลือชา (พหลโยธิน 1) ซึ่งถ้ามองย้อนไปผมคิดว่า จริงๆ อะไรก็ตามในชีวิตเรามันเป็นพรหมลิขิตขีดเส้นให้เรามาเป็นตัวตนเราอย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคตอย่างไม่รู้ตัว”

ขณะที่พี่น้องของนายมงคลต่างสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษากันหมด นายมงคลสอบเข้าโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ในสายการเรียนวิทย์-คณิต ท่ามกลางสายตาพี่น้องที่มองว่า “นายเส้น (ชื่อเล่น) เรียนไม่เก่งเลย” เขามีอันดับการเรียนอยู่ที่ 10 จากนักเรียนทั้งห้อง 44 คน แต่อย่างไรก็ตาม นายมงคลกลับรู้สึกว่าโรงเรียนที่ได้เรียนอยู่นั้นดีมากแล้ว และเขาก็เรียนจบชั้น มศ.5 ได้อย่างสบายโดยไม่มีปัญหาอะไร
“จากนั้นผมเอนทรานซ์เลือกวิศวะ 6 อันดับเลย โดยที่ยังไม่รู้จักว่าตัวเองว่าต้องการอะไร แล้วไปสอบติดที่วิศวะชลประทาน ซึ่งใช้คะแนนน้อยที่สุด แต่ก็ไม่ได้ไปเรียนนะครับ เพราะว่าวัฒนธรรมรุ่นพี่รุ่นน้องที่นั่นอาจจะไม่ตรงกับตัวเรา เป็นปีที่ทำให้ผมเปลี่ยนแปลงชีวิตมหาศาลเลย เพราะว่าเราก็พอมีความรู้ความสามารถ กลับรู้สึกว่าทำไมชีวิตมันแย่ขนาดนี้ พอสอบไม่ได้เหมือนเทวดาตกสวรรค์ แล้วก็ผิดหวังในชีวิตมาก”
“คนเรียนหนังสือสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ก็จะเป็นขยะสังคม” เป็นคำพูดจากพ่อที่ฝังลึกในจิตใจของนายมงคลมาตลอดจนถึงปัจจุบัน เป็นความเสียใจสำหรับวัยรุ่นคนหนึ่งที่ไม่เคยพบเจอความผิดหวังในชีวิต ระหว่างนั้นนายมงคลจึงตระหนักคิดได้ว่าต้องเปลี่ยนแปลงตนเองครั้งสำคัญ เขาจึงไปลงเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะเศรษฐศาสตร์ โดยที่ตนเองยังค้นไม่พบว่าที่จริงแล้วชอบเรียนอะไร

“ตอนลงวิชาเลือกของคณะเศรษฐศาสตร์ ผมไปลงวิชาบัญชี 101 ของคณะบริหารรามคำแหง หอบหนังสือมาอ่านที่บ้าน คิดว่าถ้าเราสอบไม่ติดก็กลับมาอยู่บ้านดีกว่า ผมนั่งอ่านหนังสือแล้วก็ไปสอบเลยไม่ได้เข้าเรียน ปรากฏว่าได้ G ห้าตัว จึงคิดว่าชีวิตเราเริ่มจะดีขึ้นมาหน่อย พอรู้เรื่องบัญชีเราเริ่มเข้าใจวิธีคิดหรือตัวตนเรา เริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้น รู้ความสามารถตัวเองมากขึ้น ก็เลยคิดว่าลองสอบเอ็นทรานซ์ดูอีกที เลือกธรรมศาสตร์ทั้งหมด บัญชีอันดับ 1 เศรษฐศาสตร์อันดับ 2 พอถึงวันประกาศผลผมไม่กล้าไปดูนะ ไม่ได้หวังอะไรมาก แต่เพื่อนผมมากดออดที่บ้านบอกว่า ผมติด มธ.5 ผมจำได้เลย ตะโกนดังลั่น บัญชีอันดับหนึ่ง”
การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่
เมื่อกลับมามีความมั่นใจในการเรียนอีกครั้งและค้นพบความชอบของตนเองได้ นายมงคลเริ่มมีวินัยกับตนเองอย่างมาก เขาเรียนรามคำแหงควบคู่ไปกับธรรมศาสตร์ และสามารถเรียนจบรามคำแหงได้ในเวลา 3 ปี ขาดเกรด G อีกสองตัวก็จะได้รับเกียรตินิยม
“ตอนเช้าผมอ่านหนังสือของรามคำแหงก่อน 6.00 น. พอประมาณ 8.00 น.จะออกจากบ้านมาเรียน 8.30 น.ที่ธรรมศาสตร์ ตอนเย็นทำกิจกรรม ต้องแบ่งเวลาแบบแน่นอน พอเรามีวินัยงานมันออกมาดีหมด แล้วก็ทำกิจกรรมด้วย การเรียนก็ไม่เสีย”
ด้านชีวิตในธรรมศาสตร์ นายมงคลกระโดดเข้าทำงานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มตัวตั้งแต่อยู่ปี 1 และได้รับเลือกให้เป็นรองประธานฝ่ายวิชาการในปี 2 จากนั้นนายมงคลก้าวขึ้นสู่เลขาธิการคณะกรรมการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 16 สถาบัน ประสบการณ์ตรงนี้ทำให้มีโอกาสเดินทางไปทั่วประเทศ พบเห็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและป่าไม้มากมาย เช่น ปัญหาการสร้างเขื่อน ปัญหาการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ปัญหาสัมปทานเหมืองแร่ที่ภูเก็ต ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ปัญหาผลกระทบจากโรงงานปิโตรเคมีที่ระยอง ฯลฯ

“ผมมาอยู่ฝ่ายวิชาการเป็นคนต่อสู้เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยเชิงความเห็นในรูปบทความลงนิตยสารหลายแห่ง จึงทำให้ผมทำงานกับสื่อฯ เป็น แล้วมีโอกาสพูดในที่สาธารณะ ผมขึ้นพูดบนเวทีครั้งแรกขาสั่นหมดเลย แล้วมีโอกาสได้ไปต่างจังหวัดจึงได้เห็นและมีโอกาสขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมมากมาย”
ในช่วงใกล้จะเรียนจบคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายมงคลลงสมัครเลือกตั้งเพื่อบริหารร้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนาม “พรรคสหธรรม” และได้รับเลือกจนมีโอกาสแสดงศักยภาพปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงจากสหกรณ์ในลักษณะกิจกรรมมาเป็นลักษณะบริหารธุรกิจด้วยความรู้ด้านบัญชีที่เรียนมา นำระบบสมาชิกและเงินปันผลเข้ามาใช้ ติดเครื่องปรับอากาศยกระดับให้ดูมาตรฐานขึ้น สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการถ่ายเอกสารและงานเย็บเล่มหนังสือต่างๆ จนได้รับรางวัลพระราชทานร้านสหกรณ์ดีเด่นจากในหลวงรัชกาลที่ 9
ส่งผลให้ ในวัย 25 ปี นายมงคลได้รับเลือกให้เป็นกรรมการที่สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ซึ่งถือว่าอายุน้อยที่สุดสำหรับผู้ที่เป็นกรรมการฝ่ายร้านสหกรณ์ ถือว่านายมงคลก้าวขึ้นสู่การทำงานระดับประเทศตั้งแต่อายุยังน้อย ก่อนจะเริ่มจับงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาธุรกิจกับกลุ่ม GF (กลุ่มโอสถานุเคราะห์) ด้านการเงินและตลาดหลักทรัพย์ถึง 20 ปี จากนั้นจึงก้าวเข้ามาทำงานในวงการเงินทุนตลาดหลักทรัพย์ถึง 10 ปี

“สมัยอยู่ธรรมศาสตร์ผม 5 ย.ครบเลย 1.ใส่ยีน 2.ผมยาว 3.สะพายย่าม 4.รองเท้ายาง 5.เสื้อยับ เราทำกิจกรรมต่างๆ กิจกรรมทำให้เรามาเป็นตัวตนในวันนี้ ช่วงที่เราหยุดเรียนไปหนึ่งปี ทำให้เริ่มเข้าใจปัญหาการศึกษาหลายอย่าง ผมจบธรรมศาสตร์ 3 ปีครึ่ง ขณะเรียนธรรมศาสตร์ปี 3 ครึ่ง ผมก็ไปเรียนที่นิด้าเลย ใช้วุฒิรามฯ เข้าได้เลย ระยะเวลา 5 ปี ผมจบพร้อมกันเลย 3 ปริญญา(ป.ตรีรามคำแหง ป.ตรีธรรมศาสตร์ ป.โทนิด้า) ลบปมด้อยที่เคยมีในอดีต ผมคิดว่าเรื่องทั้งหมดการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าย้อนหลังไปได้ผมจะเรียนให้ดีกว่านี้”
3 เคล็ดวิชาชีวิต คัมภีร์ที่อาจารย์ให้มา
ในปี 2524 หลังจากเรียนจบปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับการวิเคราะห์โครงการและประเมินที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) นายมงคลไม่ได้เริ่มงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไหน หากมาช่วยงานของอาจารย์ในบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจแห่งหนึ่ง ที่นี่เองทำให้เขาค้นพบคำภีร์แห่งการวิเคราะห์งานเกี่ยวกับธุรกิจต่างๆ รวมถึงสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตได้อีกด้วย แน่นอน ผู้ที่หยิบยื่นคำภีร์สำคัญซึ่งติดตัวนายมงคลมาถึงปัจจุบัน คืออาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการวิเคราะห์โปรเจกต์ (Project Analysis) นั่นเอง คัมภีร์นั้นคือ 3 วิชาได้แก่
1.การระบุปัญหา (Identify) นายมงคล อธิบายว่า ปัญหาธุรกิจหรือปัญหาอะไรก็ตามแต่ ถ้าระบุปัญหาผิดย่อมไม่อาจแก้ไขอย่างตรงจุดได้ เปรียบการกลัดกระดุมของคนเรา หากกลัดเม็ดแรกถูกก็สามารถใส่เสื้อได้สวยงาม หากผิดก็จะยุ่งเหยิงไปทั้งหมด
2.คำถามคือคำตอบ หมายความว่า การตั้งคำถามที่ดีย่อมได้คำตอบที่ดีมากกว่าการตั้งคำถามที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และทางแก้ไข เช่น ประชาชนมีรายได้ต่ำเพราะอะไร กลับกัน สามารถตั้งคำถามให้สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ว่า ทำยังไงให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อวิธีคิดและวิธีปฏิบัติให้เกิดผลได้ดียิ่งขึ้น
3.หายใจเข้าไว้ กล่าวคือ ลมหายใจเป็นพื้นฐานของร่างกาย หากรักษาให้สมดุลจนร่างกายรู้สึกสงบ สมองก็จะตื่นตัวทำงานได้ดีขึ้น ทั้งสมองส่วนที่ควบคุมร่างกาย และส่วนที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ล้วนถูกหล่อเลี้ยงด้วยลมหายใจ ฉะนั้น หากมีสมาธิจดจ่ออยู่กับลมหายใจก็จะเกิดสติและปัญญาแยกแยะเรื่องต่างๆ สามารถหาทางแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด

“เวลามีปัญหา ทั้งดีใจ เสียใจ เศร้าใจ อาจารย์สอนว่า ‘หายใจเข้าไว้’ วันแรกๆ ผมงงมาก เพราะว่าหลังจากที่ผมเรียนจบมา ท่านเป็นคนเสนอชื่อผมไปเป็นศิษย์เก่าดีเด่นที่นิด้า ในปี 2538 ผมจบมาปี 2525 ตอนนั้นผมเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ แกมาหาผมทุกปี มาเยี่ยมศิษย์เก่าทุกปี มาตรวจอาการปัญหาของแต่ละคน ความเป็นลูกศิษย์กับอาจารย์มันลึกซึ้งกันมาก ท่านสอนปริญญาโทแต่ละรุ่นก็ไม่ได้มีคนเยอะ ท่านบอกมีปัญหาอะไรไหมนายมงคล แกเรียกผม - ไอ้เส้นมึงหายใจเข้าไว้!”
หลังจากนั้นนายมงคลก็ท่องไปในยุทธภพของวงการแบงก์และธุรกิจตลอดเวลาร่วม 30 ปีที่ผ่านมา ด้วยนำพาคำสอนอาจารย์ติดตัวไปทุกที่ นายมงคลก้าวขึ้นสู่ผู้ตรวจการ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 40 ปี ควบคุมการทำงานของผู้จัดการไฟแนนซ์ทั้ง 56 แห่ง ปรับลดจำนวนให้เหลือเพียง 3 แห่งเท่านั้น และบริหารจำนวนพนักงานและดูแลเรื่องเอกสารบัญชีทั้งหมด
จากนั้นเมื่ออายุ 45 ปี นายมงคลถูกทาบทามให้ไปดูแลบริหารจัดการกิจการในกลุ่มของบริษัทไทยประกันชีวิตอีก 10 ปี ก่อนจะก้าวเข้าไปสัมผัสกับวงการสื่อสารมวลชนอย่างสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จากการชักชวนของสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตผู้อำนวยการไทยพีบีเอส เพื่อมารับตำแหน่งรองผู้อำนวยการไทยพีบีเอส รับผิดชอบเรื่องการเงิน และกำกับการเปลี่ยนแปลงจากระบบอนาล็อกมาเป็นระบบดิจิทัล ซึ่งก่อนหน้าที่จะเข้ามารับตำแหน่ง นายมงคลเป็นนายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยมาแล้วถึง 5 ปี

SME คืออนาคตของประเทศ
“ชีวิตผมผ่านมาถึงวันนี้ได้ เกิดจากความพอดี พอเพียง และครอบครัว” นายมงคลสรุปปัจจัยแห่งความสำเร็จของชีวิตตนเองเพียงสั้นๆ ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และมองเห็นจุดแข็งของผู้ประกอบการรายเล็กที่หลายคนอาจมองข้ามไปนั่นคือ ในความไม่เป็นระเบียบนั้นมีความยืดหยุ่นสูง สามารถตัดสินใจคนเดียวได้ จุดเด่นตรงนี้หาไม่ได้ในผู้ประกอบการรายใหญ่ นายมงคลแนะนำว่าต้องใช้จุดเด่นให้เป็นประโยชน์ สามารถเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยได้ตลอดเวลาเพราะมีความคล่องตัวสูง ที่สำคัญ การรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้จะสร้างความได้เปรียบเป็นอย่างมาก
“ถ้ารู้จักใช้เทคโนโลยีหรือระบบออนไลน์เข้าช่วยจะเกิดผลดี แต่จะไปถึงตรงนั้นได้ต้องมีคนรับรองให้ เช่น ร้านอาหารต้องมีคนคอยรับรองคอยให้เรทติ้งวิจารณ์ถึงจะสร้างความนิยมได้ แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อสินค้าที่มีอยู่ในร้านต้องมาตรฐาน มีคุณภาพ มีความโดดเด่นแตกต่างจากคนอื่น แล้วเวลาเอาไปขาย การเล่าเรื่องราวจะบอกความแตกต่างจากคนอื่นได้ สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าถ้าเอสเอ็มอีมีครบ จะทำให้ตัวเองสามารถทำการแข่งขันและอยู่รอด”
ในภาพรวม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีจำนวนประมาณ 3 ล้านคน และมีลูกจ้างรวมแล้ว 20-30 ล้านคน หรือคิดเป็น 80% จากผู้ทำงานในประเทศทั้งหมด 38 ล้านคน นั่นสะท้อนว่าเอสเอ็มอีอาจหมายถึงอนาคตของประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ ไต้หวัน คนที่ดูแลเอสเอ็มอีรายใหญ่สามารถกำหนดโฉมหน้าของรัฐบาลได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ หากเอสเอ็มอีแข็งแรง ครอบครัวก็แข็งแรง รวมถึงประเทศก็แข็งแรงขึ้นด้วยเช่นกัน

“เราเติบโตช้ามา 20 ปี ความเหลื่อมล้ำมีสูง วันนี้ตลาดหลักทรัพย์สูงที่สุดในรอบตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์ตั้งมา ไปดูกำไรทุกบริษัทก็กำไรตลอด แต่เอสเอ็มอีต่างกัน มีธุรกิจที่ตั้งแล้วเจ๊ง 50% แสดงว่าประเทศนี้ยังไม่แข็งแรง ถามว่าทำไมเขาถึงไม่แข็งแรง วันนี้ 'รัฐบาลไปสอนการศึกษาให้คนออกมาเป็นลูกจ้าง ไม่สอนออกมาเพื่อเป็นเจ้าของกิจการ' เรื่องราวหลายอย่างที่เขาควรรู้ในวันที่มาทำงานเขาไม่มี และที่สำคัญมีหลายหน่วยงานของรัฐบาลทำงานยังไม่บูรณาการ เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการก็งงว่าจะไปหาใคร จะไปหาเรื่องอะไร แล้วตัวเองจะได้องค์ความรู้เรื่องราวเหล่านี้อย่างพร้อมเพรียงได้อย่างไร อย่างเวลาเราไปลงทุนบริษัทใหญ่ๆ มีโต๊ะเดียวบริการทุกเรื่อง แต่เอสเอ็มอีไม่มี”
นายมงคล อธิบายว่า ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีไม่กล้าเข้าระบบ เพราะว่ากลัวเข้าระบบแล้วจะเสียภาษี เมื่อไม่เข้าระบบจึงไม่มีบัญชีรายรับรายจ่าย ส่งผลให้ไม่ได้รับการรับรองด้านการเงินอย่างเป็นทางการ เวลามีปัญหาด้านการเงินก็ไม่สามารถกู้ได้ตามประสงค์ เพราะต้องเข้าใจแบงก์ด้วยว่า การกู้เงินจำเป็นต้องตรวจเอกสารมากมายเพราะต้องตรวจสอบว่าสภาพกิจการเป็นอย่างไร รายรับรายจ่ายสอดคล้องกันแค่ไหน อย่างไร
“ผมเรียนบัญชีมา บัญชีไม่ใช่เรื่องยากเลยนะ แต่สำคัญคือต้องทำในวันที่มีการทำธุรกรรม ให้เก็บเอกสารไว้เลย สมมุติว่าวันนี้ท่านเอาหนังสือให้ผมเล่มหนึ่ง ถ้าท่านรอบคอบหน่อย ท่านก็ให้ผมเซ็นรับหนังสือเล่มนั้นไว้ เพื่อเป็นหลักฐาน ฉะนั้นก็เท่ากับว่าถ้าหนังสือเล่มนี้ 2 พันบาท ท่านให้ผมมาแล้วผมเซ็นรับ เวลาท่านจะไปแสดงรายจ่ายที่ไหน ท่านก็เอาหนังสือที่ผมเซ็นรับว่านายมงคลเป็นคนรับเมื่อวันที่เท่านั้นเท่านี้ไป แต่ถ้าบอกว่าผมให้นายมงคลไปแล้ว ใครจะเชื่อ ไม่มีหลักฐาน”

พรหมลิขิตชี้ชะตา อดีตชี้อนาคต
“เราเป็นเด็กต่างจังหวัด เราเกิดมาจากพื้นฐานคนตัวเล็ก แต่ไม่ลำบาก หมายถึงว่าชีวิตการค้าขายพ่อแม่ก็ประสบปัญหา แต่อาจได้โอกาสดีกว่าคนอื่นตรงที่ว่า พ่อแม่เป็นคนเห็นประโยชน์ของการศึกษา สอนให้เรารักการอ่าน และท่านสอนให้ผมทำงานกับคนเป็น ดูคนออก แล้วรู้จักหลักธรรมะ หลักพอพียง ชีวิตผมมาถึงวันนี้ได้เกิดมาจากความพอดี พอเพียงของครอบครัว ไม่ละโมบ เรารู้จักอยู่ดีกินพอ ก็เลยทำให้ชีวิตมาถึงตรงนี้ได้”
เมื่อย้อนกลับไปมองชีวิตในวัยเด็ก มีเรื่องหนึ่งที่นายมงคลฝังใจและขบคิดถึงชีวิตที่ก้าวเข้ามาอยู่ในวงการการเงินและธุรกิจจวบจนปัจจุบันนี้มาตลอด นั่นคือ ตั้งแต่เด็ก เวลาพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเดินทางจากบ้านเดิมที่อำเภอตะกั่วป่ามาที่จังหวัดภูเก็ต นอกจากจะนำของมาฝากคนที่บ้านแล้ว ยังต้องนำของไปฝากนายธนาคารด้วย ในฐานะเด็กที่สุดในบ้าน นายมงคลได้รับมอบหมายหน้าที่นั้น
“ผมก็ยังคิดว่าทุเรียนลูกที่ดีที่สุดทำไมเราไม่ได้กิน ทำไมเราต้องเอาไปให้นายธนาคาร แล้วเขาก็บอกว่าห้ามเอาไปให้ที่ธนาคารนะ เอาไปให้ที่บ้าน ส่วนใหญ่ภรรยาผู้จัดการฯ ก็จะมารอรับ ก็เอ็นดูกัน ผมยังสงสัยนะทำไมของอร่อยเราถึงไม่ได้กิน ทำให้คิดว่าทำไมอาชีพนี้ถึงได้กินแต่ของดีๆ ทำไมญาติพี่น้องเราทั้งหมดต้องเอาของไปให้ผู้จัดการธนาคารเหมือนกับเป็นญาติกันด้วย”
เป็นความฝังใจเล็กๆ ของเด็กคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญเมื่อราว 50 ปีที่แล้ว ไม่มีโอกาสได้เห็นโลกกว้างมากนัก รอบตัวเขามีแต่พ่อค้าแม่ค้า ทุกคนต่างตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน เมื่อเวลาต้องการกู้เงินจึงต้องไปที่ธนาคาร และทำให้เข้าใจว่าหากไม่รู้จักใครในธนาคารเลยก็จะยากต่อการกู้ นั่นคือความเข้าใจในวัยเด็กของเด็กชายมงคล ลีลาธรรม ซึ่งเขาไม่เคยคิดว่าโตขึ้นจะต้องมาเป็นนายธนาคารเสียเอง อาจจะเหมือนคำพูดที่เขาเชื่อมาตลอดว่า “ชีวิตคนเราถูกลิขิตไว้แล้ว”

ฝากบทเรียนถึงเยาวชนรุ่นหลัง
“ผมอยากให้เยาวชนได้ศึกษาถึงพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 สามารถนำไปใช้ได้จริง ทำได้จริง ทั้งในเรื่องส่วนตัวรวมถึงใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารองค์กรใหญ่ๆ ได้ด้วย และมีผลอย่างเป็นอัศจรรย์ อย่าง 2 ปีนี้ SME Development Bank ก็มาจากจุดเริ่มต้นของพระราชดำรัสหรือคำสอนของท่านเรื่องความพอเพียงอย่างจริงจัง โดยเฉพาะธนาคารหรือธุรกิจใดก็แล้วแต่ ความน่าเชื่อถือเป็นเรื่องใหญ่ ความน่าเชื่อถือมาจากพื้นฐานของคุณธรรม คุณธรรมมาจากพฤติกรรมสำคัญอยู่อันหนึ่งคือ ระมัดระวัง ถ้าเราระมัดระวังตั้งแต่เริ่มต้นของวาจา ความคิด ที่สำคัญที่อาจารย์สอนผมก็คือ หายใจเข้าไว้ ก็จะเกิดสิ่งดีๆ ติดตามมาด้วย
“เยาวชนแต่ละคนต้องไปค้นว่าอะไรเหมาะกับเรา แล้วจะเริ่มจากตรงไหน เพราะวิถีแต่ละคนแตกต่างกัน เด็กๆ ที่อยู่ไกลปืนเที่ยงถ้ามีจุดมุ่งหมายก็ขอให้ฝันเถอะ ผมเคยเจอเอสเอ็มอีอยู่รายหนึ่งเขาบอกว่า คนเราต้องมีความฝัน ต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตให้สูงส่ง แล้วฝันให้ไปถึงดวงดาวเลย อย่างน้อยถ้าไม่สำเร็จไปถึงดวงดาวนั้น ก็ขอให้ออกมาจากปากซอยได้ก็ดีแล้ว ฉะนั้น เด็กทุกคนมีความฝันได้หมด ฝันแล้วหายใจเข้าไว้ มีสติ” นายมงคล ลีลาธรรม กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม