top of page

ทางชีวิต จากดินสู่ดาว พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

อัปเดตเมื่อ 6 ก.ย. 2562

"ตำแหน่งหน้าที่วันหนึ่งก็ต้องโรยราไป แต่สิ่งที่เหลือคือเกียรติยศชื่อเสียงต่างหากที่จะดำรงอยู่"

ภาพชีวิต

แม่เที่ยวหาบผลผลิตจากไร่นาของเราไปแลกข้าวเปลือก ข้าวสุก หรือเนื้อชนิดต่างๆ ใครจะซื้อแกก็ขาย แตงกวา ฟัก ชะอม พริก และพืชผักสวนครัวตามแต่ฤดูกาล ถ้าเป็นสมัยนี้เขาเรียกกันให้ดูมีราคาว่าผักปลอดสารเคมี แต่สมัยของเราเมื่อห้าสิบปีที่แล้วนั้นยากจน ไม่มีถนนและไฟฟ้าใช้สะดวกสบายเหมือนปัจจุบัน เราไม่เอาเงินที่มีอยู่น้อยนิดไปเสียให้ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง อะไรจะดีไปกว่าดินและน้ำ และหยาดเหงื่อแรงกายที่เรามีอยู่ ตั้งแต่ปลูกไว้กินในครอบครัว พอเหลือก็เก็บมาหาบขาย ปากท้องในครอบครัวผลักดันให้เราต้องดิ้นรน ไม่มีใครอยู่เฉยได้โดยไม่ช่วยงาน


เสียงพ่อปลุกพวกเราแต่เช้าตรู่ พวกเราพี่น้องทั้งหกคนต่างลุกขึ้นเพื่อไปทำงานที่ไร่เหมือนทุกวัน ไร่นาของพ่อก็เปรียบดั่งตู้เย็นหรือตู้กับข้าวให้เราได้อิ่มหนำ ดูเหมือนพื้นดินจะมีสัมพันธ์ซึมซับกับชีวิตจิตใจของเราตั้งแต่การทำนา ปลูกพืชผัก การจับปลาตามหนองน้ำและบึงต่างๆ ชีวิตของเราสัมผัสกับสิ่งเหล่านั้นมาตั้งแต่เด็กๆ มันไม่ใช่การทำเพื่อหวนกลับไปใช้ชีวิตพอเพียงแบบที่คนสมัยนี้เรียกกัน แต่สิ่งที่เราทำคือชีวิต คือปากท้อง และหน้าที่ที่ปฏิเสธไม่ได้


ครอบครัวเราผลิตอะไรได้ก็ต้องทำ นั่นคือสิ่งที่พ่อกับแม่ปฏิบัติให้เห็นตั้งแต่เราจำความได้ ปลาแห้ง พริกป่น มะนาว ข้าว และอะไรอีกหลายๆ อย่าง ของกินของใช้เล็กๆ น้อยๆ เราพยายามทำเอง แล้วก็เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วทำได้ โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ พ่อใช้วิธีนี้เพื่อให้ครอบครัวอยู่รอด ลำพังเงินเดือนครูประชาบาลสองพันบาทในยุคนั้นไม่มากพอจะซื้อเสื้อผ้าสวยๆ ให้ลูกทุกคนใส่ได้มากมาย เสื้อผ้าบางตัวผ่านลมหนาวมาแล้วไม่รู้กี่ฤดู เราก็ยังสวมใส่มันอยู่ แล้วก็พบว่ามันให้ความอบอุ่นแก่เราทุกๆ ครั้งที่ใส่ นี่คงเป็นวิธีสอนลูกของพ่อให้คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยมากกว่ารูปลักษณ์สวยงาม

ที่เราต้องประหยัดอดออมถึงขนาดนี้ เพราะพ่อรู้ว่ายังมีเรื่องสำคัญกว่าชีวิตประจำวันที่สุขสบาย นั่นคือการศึกษา เงินและหนี้สินทั้งหมดในครอบครัวเราเพื่อการศึกษาของลูกทุกคน เมื่อสบตาใครแล้วลูกคนนั้นต้องได้เรียนหนังสือเท่าเทียมพี่น้อง ไม่ว่าพ่อจะเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบเท่าใดก็ตาม ทว่าการศึกษาที่ลูกทุกคนได้มาก็ต้องแลกกับความยากลำบากที่พ่อทุ่มเทด้วยชีวิต พ่อไม่รู้หรอกว่าลูกคนไหนจะได้เรียนหนังสือจนโตไปเป็นรัฐมนตรี เป็นนักกฎหมาย หรือเป็นอะไรก็ตามที่มีหน้ามีตาในสังคม สิ่งเดียวที่พ่อต้องการคืออยากให้ลูกมีภูมิคุ้มกันชีวิตในอนาคต


เวลาว่างของเราหมดไปกับงานไร่นา หาเล็กผสมน้อย ไม่ใช่เวลาวิ่งเล่นเหมือนเด็กคนอื่น เราจะมีพอกินพอใช้ได้ก็ด้วยสองมือสร้างทำ ระบบของพ่อซึมซับอยู่ในชีวิตจิตใจลูกทุกคน เมื่อพ่อกู้เงินให้เรียนแล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือไปเรียนให้คุ้ม แม้ระยะทางจากบ้านไปโรงเรียนในตัวอำเภอจะยาวไกลถึงยี่สิบกิโลเมตร แต่เราก็ปั่นจักรยานไปจนถึง บนถนนดินตามธรรมชาติ แน่นอนว่าเมื่อถึงฤดูฝนทีไรมันลำบากและเหนื่อยล้าหาที่เปรียบไม่ได้ เมื่อกลับมาถึงบ้านเราก็วางกระเป๋านักเรียนหันมาช่วยงานบ้านเหมือนเดิม พอปิดเทอมเราก็ไปรับจ้างตัดอ้อย แบ่งเบาเท่าที่จะทำได้ กว่าถนนดินแดงที่เขาว่าสะดวกสบายจะเข้าถึงหมู่บ้าน เราก็เรียนจนถึงชั้นมัธยมศึกษาแล้ว


พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หยุดเล่าครู่หนึ่งระหว่างการให้สัมภาษณ์ นึกถึงเรื่องราวชีวิตอันยากลำบากที่ผ่านมากว่าจะถึงวันนี้ หมู่บ้านยาง อำเภออู่ทอง ตำบลบ้านดอน อันเป็นแหล่งเกิดกายของเขา อยู่ห่างจากตัวเมืองสุพรรณราว 60 กิโลเมตร เมื่อ 50 ปีที่แล้วที่นี่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีถนนหนทางสะดวกสบายเหมือนทุกวันนี้ เด็กชายไพบูลย์นึกเห็นภาพตัวเองช่วยแม่ถือผักหาบไปขายได้ดี

"เงินและหนี้สินทั้งหมดในครอบครัวเราเพื่อการศึกษาของลูกทุกคน เมื่อสบตาใครแล้วลูกคนนั้นต้องได้เรียนหนังสือเท่าเทียมพี่น้อง ไม่ว่าพ่อจะเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบเท่าใดก็ตาม"

สู่โลกกว้างโรงเรียนเตรียมทหาร

ทว่าถ้าโลกนี้มีพระเจ้าคอยประทานพรให้แก่มนุษย์จริงๆ พลเอกไพบูลย์คงมีพรสวรรค์ในด้านการเรียน เขาอาจเรียนอยู่บนความลำบากจากพื้นฐานครอบครัวก็จริง แต่กลับสอบได้ทุนการศึกษาเป็นที่หนึ่งมาตลอด ทั้งยังมีทัศนะรู้เท่าทันสถานการณ์ชีวิต ดังช่วงชั้นมัธยมศึกษาก่อนที่จะสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้เป็นคนแรกของโรงเรียน


“ผมเรียนประถมที่โรงเรียนวัดยางสว่างอารมณ์ จนจบ ป.7 ก็มาเรียนต่อที่อำเภออู่ทอง ช่วงแรกปั่นจักรยานยี่สิบกว่ากิโลไปเรียน ก็เหนื่อยเริ่มไม่ไหว พอ ม.3 ก็ไปอยู่วัด ต้องอยู่วัดเพราะว่ามันมีเวลาดูหนังสือ ก็ได้กินบ้าง ไม่ได้กินบ้าง แต่เราต้องการดูหนังสือ เพราะมันเริ่มที่จะต้องเข้าไปสอบแข่งขัน

อาศัยเป็นเด็กเรียนเก่งพ่อก็เลยให้ไปสอบโรงเรียนเตรียมทหาร ก็สอบได้เป็นคนแรกของโรงเรียน ตอนสอบก็นั่งขำ คือสอบแล้วผมก็ไม่อยากไปฟังผลนะ มีความรู้สึกว่ามันคงสู้เขาไม่ได้ พอไปดูรายชื่อก็สอบได้เลยได้เรียน พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นนายร้อย ผมสอบได้ชื่อดังทั่วหมู่บ้าน ผมคิดว่าเป็นต้นแบบให้น้องๆ หลังจากนั้นมาโรงเรียนผมไปสอบโรงเรียนเตรียมทหารตลอด”


ไม่ง่ายที่เด็กคนหนึ่งจะรู้หน้าที่และความสำคัญของการเรียน พลเอกไพบูลย์ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านั้น การย้ายมาอยู่วัดเพื่อทุ่มเทให้กับการเรียนและท่องตำรา ทำให้ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงเรียน แม้ช่วงหลังจะมีถนนดินแดงเข้าถึงหมู่บ้าน มีรถโดยสารรับส่งนักเรียน แต่มันก็ต้องใช้เงิน ต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อให้ทันรถ ขากลับจากโรงเรียนต้องรอเพื่อนๆ ที่โดยสารไปด้วยกันมาขึ้นรถจนครบถึงจะออกเดินทางได้ เวลาเหล่านั้นหมดไปโดยเปล่าประโยชน์ กว่าจะถึงบ้านก็เย็นมากแล้ว กว่าจะทำงานบ้านเสร็จก็หมดแรงทบทวนตำราและหลับใหลไปด้วยความอ่อนเพลียในที่สุด

เมื่อเข้าไปอยู่ในโรงเรียนเตรียมทหารได้ พลเอกไพบูลย์ไม่ค่อยเข้างานสังคมมากนัก อาทิ งานเต้นรำ หรืองานที่ต้องใช้เสื้อผ้าสวยๆ เพราะตัวเองเป็นเด็กบ้านนอกที่ยากจน มีเสื้อผ้านอกเครื่องแบบอยู่สองตัว และอีกปัญหาคือเรื่องการเรียนที่มีพื้นฐานมาจากโรงเรียนต่างจังหวัด ซึ่งใครที่ย้ายเข้ามาเรียนในเมืองคงจะสัมผัสได้ไม่ยาก


“ต้องยอมรับว่าโรงเรียนต่างจังหวัดกับโรงเรียนในกรุงเทพฯ มันก็เหมือนปัจจุบัน คนอยากจะหนีเข้ามาเรียน แต่วันนี้ผมกลับไปโรงเรียนเก่าผมว่าเขาพัฒนาไปเยอะ คือความเท่าเทียมกันในด้านวิชาการ ความเท่าเทียมกันในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก เมื่อก่อนครูบาอาจารย์จะอยู่กรุงเทพฯ แต่เทคโนโลยีทำให้เด็กต่างจังหวัดมีการพัฒนาใกล้เคียงกันมากขึ้น


"ผมเรียนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนเก่าผมไม่มีเครื่องมือ ถามเพื่อนที่เรียนในเมืองมีห้องแล็บตั้งแต่มัธยม ผมไม่มีครูภาษาอังกฤษ ที่อื่นครูฝรั่งมาสอน ของผมครูพละมาสอนภาษาอังกฤษ แต่ใช่ว่าท่านไม่มีความสามารถ แต่มันขาดแคลนทั้งครูวิทยาศาสตร์ ครูสังคม แต่ท่านก็ถ่ายทอดให้ผมโตมาทุกวันนี้นะ ผมอยากให้เห็นภาพความแตกต่าง”

เมื่อถึงช่วงปิดเทอม พลเอกไพบูลย์กลับมาช่วยงานที่บ้านเหมือนอย่างเคย ภาพที่ชาวบ้านพบเห็นคือลูกชายคนที่สองในหมู่พี่น้องหกคนกลับมาช่วยงานที่บ้านด้วยการรับจ้างตัดอ้อยโดยไม่เหลือเงาของนักเรียนนายร้อยโก้เก๋อย่างที่ใครปรารถนากัน เพราะรากฐานที่แท้จริงของครอบครัวคือเกษตรกร เงินที่ใช้เรียนหนังสือได้ล้วนเป็นหนี้สินกู้ยืมทั้งนั้น จริงๆ แล้วเขายอมรับว่าอยากเรียนกฎหมายมากกว่า เพราะชอบความเป็นเหตุเป็นผลและมีตรรกะ แต่ถ้าไม่เข้าไปสู่โลกของนักเรียนเตรียมทหารตามคำของพ่อวันนั้น วันที่ขึ้นมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมตลอดจนดำรงตำแหน่งองคมนตรีอาจไม่ปรากฏ

จากสนามเรียนสู่สนามรบ

เมื่อจบเตรียมทหาร พลเอกไพบูลย์เลือกทหารราบ จากพื้นฐานเป็นลูกชาวนามีชีวิตสัมพันธ์กับพื้นหินดินทรายมาตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เขาตัดสินใจเลือกไม่ยาก ทั้งที่จริงความเป็นนักเรียนเหรียญทองของเขาสามารถเลือกลงได้ทุกที่ ทุกทุนที่ทางการมีให้เขาสามารถสอบพิชิตได้หมดในอันดับต้นๆ แต่ชีวิตคนไม่สามารถกำหนดได้ด้วยตนเองเพียงอย่างเดียว ยังมีโชคชะตาอื่นๆ ประกอบเข้ามาอีกมากมาย พลเอกไพบูลย์มองย้อนชีวิตตัวเองอีกครั้ง ความจริงเขาสามารถสอบชิงทุนไปเรียนที่อังกฤษได้ แต่ทุนนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิด อีกครั้งที่เขามีสิทธิ์ไปเรียนแพทย์ทหารได้ แต่ก็มีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2519 เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบที่เคยเป็นมา เมื่อผิดหวังจากโชคชะตาบางอย่างเขาก็เลือกที่จะอยู่กับปัจจุบัน


“ตอนนั้นเลือกเหล่า ผมเลือกทหารราบก็ยังไม่รู้เลยจะได้ไปอยู่ไหน เพราะว่ามันปรับใหม่ ช่วงนั้นวิกฤตเหมือนกัน มีการตั้งหน่วยทหารขึ้นใหม่เพื่อรองรับสงครามเวียดนาม เราก็รู้ว่าต้องหนักแน่ เรื่องคอมมิวนิสต์ยังมีอยู่


“ผมเลือกลงที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ที่บางเขน พอลงได้สามสี่เดือนได้ไปอยู่ตำบลตาพระยา จังหวัดสระแก้ว เพราะว่าหน่วยต้องออกไปในพื้นที่ที่มีปัญหาสงคราม เขมรเริ่มอพยพกันที่หนองเขาอีด่าง ต้องไปดู ไปตั้งฐานกันตรงนั้น พอมันเริ่มแตก โดมิโน่มันเริ่มมาทีละขั้นๆ”

“ผมว่าผมโชคดีที่เรียนจบไม่กี่วันได้ไปอยู่สนามรบ” จากทฤษฎีในตำรากลายมาเป็นชีวิตจริงในพื้นที่สุ่มเสี่ยงสงคราม พลเอกไพบูลย์มองว่าเป็นเรื่องดีที่เขาได้ใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาทั้งในเรื่องการดูแลลูกน้อง เรียนรู้การเอาชีวิตรอดจากสนามรบ ซึ่งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทุกคนล้วนผ่านสถานการณ์แบบนั้นมาทั้งสิ้น


“ผมว่านายทหารชั้นผู้ใหญ่สมัยก่อนที่รบผมว่าท่านมีประสบการณ์ตั้งแต่ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านผู้บัญชาการทหารบก ก็ออกรบกันหมดสมัยนั้น รุ่นผมเรียกว่าสงครามยังมี ทำให้เราเรียนจากตำราเอามาใช้ได้เลย ผมถึงบอกว่าผมโชคดี”


ที่ช่องพระพลัย เขตอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีษะเกษ เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่จำไม่ลืม สืบเนื่องมาจากทหารเวียดนามหรือเขมรได้บุกเข้ามาโจมตีทหารเขมรแดงที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย แล้วได้รุกล้ำเข้ามาในผืนแผ่นดินไทยและยึดเนินสำคัญที่ชื่อ "เนิน 642 ช่องพระพลัย" นั้นไว้เป็นที่บัญชาการรบกับเขมรแดง ในสมัยที่พลเอกไพบูลย์ทำหน้าที่ทหารติดตาม พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 ดูแลแถบอีสานใต้ทั้งหมด พลเอกไพบูลย์ได้เห็นการดูแลการรบ และเกือบจะทิ้งชีวิตไว้ที่นั่น

“กระสุนปืนใหญ่ตกในอ่างเกือบสองร้อยลูกและลูกที่ตกใกล้ตัวเรามันไม่ระเบิด เราจำได้ว่าเราเดินไปแถวนั้น พอเดินกลับมาและทหารช่างเดินไปตรงที่เราเพิ่งเดินกลับมาแต่ระเบิดเกิดทำงานทหารช่างคนนั้นขาขาด เราก็ว่าเราเพิ่งเดินไป โชคชะตาคน ผมก็เรียนรู้จากตรงนั้น


“จากนั้นก็กลับมาเรียนเสนาบดี แล้วก็ไปบรรจุที่กรมยุทธการทหารบก เพราะผมเห็นว่ากรมยุทธการทหารบกยุคนั้น... คือประเทศไทยจะใช้ยุทธการนำกองทัพในความรู้สึกผม เพราะว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง การกำหนดแนวทางจะใช้ยุทธการนำเรื่องอื่น ผมอยากไปอยู่กรมนี้เพราะได้เรียนรู้ ปีสองปีก็กลับมาเป็นผู้พันในกรมทหารราบ 11 แล้วก็เป็นผู้การ


“ผมเป็นคนแรกที่เป็นผู้การกรมสามกรม เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 เป็นแม่ทัพที่ 1 แล้วก็มาเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งมันเป็นช่วงเดียวกับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมด้วย”

ความพอเพียงกับครอบครัวของเรา

“ครอบครัวผมไม่ใช่ครอบครัวที่ร่ำรวย ครอบครัวผมต้องกู้เงินมาเรียนหนังสือ เด็กๆ พ่อแม่ต้องทำนา ต้องขายข้าวเพื่อผ่อนหนี้ แต่หนี้นั้นเกิดจากการที่พ่อลงทุนให้กับพวกเรา” ถึงวันนี้จากเด็กที่มีชีวิตอยู่กับพื้นหินดินทราย จนมาเป็นพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี นับว่าผ่านอะไรมามากมาย แต่ที่สุดแล้ว พลเอกไพบูลย์หวังเพียงว่า จะกลับไปใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการอย่างเรียบง่ายที่บ้านเกิด แบบที่พ่อเคยทำให้เห็น ชีวิตในวัยเด็กที่ผ่านมาคือภาพแขวนที่เขาและพี่น้องหวนระลึกไม่ลืมเลือน


พลเอกไพบูลย์ยืนยันว่า พี่น้องทั้งหกคนถูกหล่อหลอมเหมือนกันหมดทุกคน นั่นคือพื้นฐานจากวัยเด็กที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับความลำบาก ครอบครัวจึงเสมือนโรงเรียนที่มีพ่อคอยสอนด้วยการกระทำ แม้จะมีบางครั้งคราวที่พี่น้องทั้งหกคนมานั่งคุยกันถึงความน้อยเนื้อต่ำใจที่ไม่มีเสื้อผ้าสวยๆ อย่างคนอื่นเขา มีแต่งานและงาน


เมื่อเวลาผ่านไปจึงรู้ว่า สิ่งที่พ่อทิ้งไว้ให้คือภูมิคุ้มกันชีวิตที่ไม่มีวันหมดอายุ ชีวิตพ่อและแม่คือตัวแทนแห่งความพอเพียงอย่างแท้จริงทั้งที่คนในครอบครัวเองก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

“แม้แต่เสื้อผ้าลูกก็ไม่ได้ซื้อให้อย่างมากมายทั้งๆ ที่ลูกก็อยากจะได้ แล้วลูกก็เกิดความรู้สึกว่าพ่อไม่ได้ดูแลเราด้วยซ้ำไป พอโตมาเราก็เข้าใจในสิ่งเหล่านั้น เพราะเขาต้องการให้ครอบครัวเราอยู่รอดมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งได้ แล้วสิ่งที่พ่อทำก็คือภูมิคุ้มกันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสไว้ เป็นภูมิคุ้มกันให้กับพวกเรา เพราะเราอดทน ทำไร่ทำนา วันนี้เรารับราชการ เรามีเงิน เราไม่ไปกอบโกยในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นภูมิคุ้มกันที่ผมอาจจะไม่ได้รู้สึกตัวด้วยก็ได้ แต่มันถูกซึมซับที่พ่อสอนเรามาทุกคน”


แม้ผู้เป็นพ่อจะจากไปแล้ว แต่คำสอน การกระทำต่างๆ ลูกหลานได้ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น วิถีชีวิตของพ่อเป็นแนวทางให้กับลูกหลานนำไปใช้ในสังคมยุคไหนก็ตามแต่ พวกเขาจะเรียนรู้วิธีการอยู่รอดจากพ่อไม่มีจบสิ้นซึ่งมีค่ายิ่งกว่าสมบัติล้ำค่าใดๆ เสียอีก


“ผมรู้สึกได้ว่าคนในหมู่บ้านอิจฉาแม่ผมมาก เขาพูดกันว่า ‘ลูกหลานจันเป็นรัฐมนตรี เป็นนักบิน ไม่มีใครมีความสุขเท่ายายจันหรอก’ แม่ผมชื่อจันครับ ผมกับแม่เอาแตงกวาไปแลกข้าวเปลือก แลกข้าวสุก เอาผลผลิตจากไร่ กินเหลือ แม่ก็หาบไป ตอนเย็นหลังเลิกเรียนผมก็แบกไปกับแม่ผม เป็นลูกชายที่เดินไปกับแม่เอาผักเอาอะไรไปแลกข้าวกิน

“ทุกวันนี้ตำแหน่งหน้าที่วันหนึ่งก็ต้องโรยราไป แต่สิ่งที่เหลือคือเกียรติยศชื่อเสียงต่างหากที่จะดำรงอยู่ แต่ตำแหน่งหน้าที่สร้างเกียรติยศได้ แล้วแต่ใครจะฉวยโอกาสเท่านั้นเอง เมื่อผมเกษียณอายุราชการเหลือไว้คนรุ่นหลังมาสานต่อ เขาจะคิดถึงผมในเรื่องงานที่ผมทำก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ผมก็อยากจะไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมเหมือนที่ผมเคยเกิดมา ผมเกิดกะดินกะทราย ผมเกิดกับต้นไม้ ผมเกิดมาปลูกผักปลูกหญ้าผมก็อยากกลับไปใช้ชีวิตตรงนั้น”


พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ยิ้มให้ชีวิตตัวเองอีกครั้งพร้อมน้ำตาเอ่อท้น

ดู 6,204 ครั้ง0 ความคิดเห็น
เพลง ครอบครัวพอเพียง
00:00 / 02:09
bottom of page